วันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

The official synopsis of Ong Bak 3 has been unveiled at the American Film Market:Ong Bak 3 plot:"The legend of Ong Bak 3 begins after Tien (Tony Jaa) has lost his fighting skills and his beloved step-father at the Garuda's Wing cliff from the raid led by Jom Rachan (Saranyu Wonggrajang). Tien is brought back to life with the help from Pim (Primrata Dechudom) as well as Mhen (Petchai Wongkamlao) and the Kana Khone villagers. Deep into the meditation taught by Phra Bua (Nirutti Sirijanya), Tien finally is able to achieve 'Nathayut'. His talents are put to the test again when his rivals including the Golden-Armored King’s Guard (Supakorn 'Tok' Kijusuwan), the mysterious killers in black, and Bhuti Sangkha (Dan Chupong) return for the final massive showdown."

http://thaifilmjournal.blogspot.com/2008/12/sia-jiang-there-will-be-ong-bak-3.html
http://ongbak3.movie-trailer.com/

เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity)

ปัจจุบันคำที่ใช้กันมากและอาจสร้างความสงสัยให้ผู้คนได้ไม่น้อยก็คือคำว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้

เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่รู้จักใช้คอนเซ็ปท์ Creative Economy (CE) ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกในรูปของภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลง นักร้อง แฟชั่น การท่องเที่ยว ศิลปะการแสดง อาหาร ฯลฯ ซึ่งสร้างการจ้างงานและรายได้อย่างมหาศาลเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม

ความหมายอย่างง่ายของ CE ซึ่งให้โดย John Hawkins (ในหนังสือชื่อ The Creative Economy : How People Make Money From Ideas ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC) ก็คือ "การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์" สาขาการผลิตที่พัฒนาไปสู่ CE จะเรียกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries หรือ CI) ซึ่งหมายถึงกลุ่มกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญ

UNCTAD แบ่งประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ......
1) ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage or Cultural Heritage) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expression) เช่น ศิลปะและงานฝีมือ เทศกาลงานและงานฉลอง เป็นต้น และกลุ่มที่ตั้งทางวัฒนธรรม (Cultural Sites) เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และการแสดงนิทรรศการ เป็นต้น
2) ประเภทศิลปะ (Arts) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนพื้นฐานของศิลปะ และวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 กุล่ม คือ งานศิลปะ (Visual Arts) เช่น ภาพวาด รูปปั้น ภาพถ่าย และวัตถุโบราณ เป็นต้น รวมทั้งศิลปะการแสดง (Performing Arts) เช่น การแสดงดนตรี การแสดงละคร การเต้นรำ โอเปร่า ละครสัตว์ และการเชิดหุ่นกระบอก เป็นต้น
3) ประเภทสื่อ (Media) เป็นกลุ่มสื่อผลิตงานสร้างสรรค์ที่สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ งานสื่อสิ่งพิมพ์ (Publishing and Printed Media) เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ เป็นต้น และงานโสตทัศน์ (Audiovisual) เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์ วิทยุ และการออกอากาศอื่นๆ เป็นต้น
4) ประเภท (Functional Creation) เป็นกลุ่มของสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มการออกแบบ (Design) เช่น การออกแบบภายใน กราฟิค แฟชั่น อัญมณี และของเด็กเล่น เป็นต้น ส่วนกลุ่ม New Media ได้แก่ ซอฟต์แวร์ วิดีโอเกม และเนื้อหาดิจิตอล เป็นต้น และกลุ่มบริการทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Services) ได้แก่ บริการทางสถาปัตยกรรม โฆษณา วัฒนธรรมและนันทนาการ งานวิจัยและพัฒนา และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล และความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น......."

ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดขอบเขตของ CE หรือ CI อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้พยายามจัดกลุ่มของ CI ตามลักษณะของบัญชีรายได้ประชาชาติ โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มได้แก่
1) งานฝีมือและหัตถกรรม (Crafts) 2) งานออกแบบ (Design) 3) แฟชั่น (Fashion) 4) ภาพยนตร์และวิดีโอ (Film & Video) 5) การกระจายเสียง (Broadcasting) 6) ศิลปะการแสดง (Performing Arts) 7) ธุรกิจโฆษณา (Advertising) 8) ธุรกิจการพิมพ์ (Publishing) 9) สถาปัตยกรรม (Architecture)
ข้อมูลของสำนักบัญชีประชาชาติปี 2549 ระบุว่ามูลค่าของ CI ของทั้ง 9 กลุ่มข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.4 ของ GDP โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 848,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกในปี 2549 ประมาณ 289,000 ล้านบาท

ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นสินทรัพย์สร้างสรรค์ (Creative Assets) อยู่มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปธรรมหรือนามธรรม ซึ่งสามารถนำไปสร้างเสริม CE ได้เป็นอย่างดี

ในด้านรูปธรรม เรามีพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกต พระพุทธรูปงดงามพระราชวัง วัดวาอาราม เรือสุพรรณหงส์ อาหารไทย รำไทย นวดไทย ข้าวไทย ผลไม้ไทย ผ้าไหมไทย สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ฯลฯ แหล่งท่องเที่ยว เช่น อยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เยาวราช สำเพ็ง เขาพระวิหาร เมืองโบราณ ฟาร์มจระเข้ ฯลฯ

ในด้านนามธรรม เรามีเรื่องราวของ Siamese Twins อิน-จัน (คำว่า Siamese สามารถช่วยสร้าง CE ได้เป็นอย่างดีเพราะฝรั่งรู้จัก Siamese Twins/ Siamese Cats แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าประเทศไทยกับสยามคือประเทศเดียวกัน บ้างก็นึกว่า Thailand คือ Taiwan) สะพานข้ามแม่น้ำแคว เขาตะปู (ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ 007 James Bond) ฯลฯ

วัตถุดิบเหล่านี้กำลังรอคอยการพัฒนาขึ้นเป็น Creative Assets เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้าง Creative Industries

หัวใจสำคัญของการพัฒนาก็คือความคิดสร้างสรรค์ (Creative Ideas) ซึ่งมิได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด หากเกิดขึ้นจากการมีทักษะในการคิด (Thinking Skills) และการมีความคิดริเริ่ม (Originality) ซึ่งต้องมีการเรียนการสอน ฝึกฝนกันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (2553-2555) ของรัฐบาลชุดนายกฯ อภิสิทธิ์นี้ งานสร้าง CE ได้รับเงินจัดสรรรวม 17,585 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่การส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมช่างฝีมือไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมรวมออกแบบและสินค้าเชิงสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หากประเทศของเราจะอยู่ได้ดีในหลายทศวรรษหน้า ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเราจำเป็นต้องพัฒนาจากระดับต่ำสุด คือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต (Factor-driven Economy คือ การใช้การผลิตด้วยต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยสำคัญ) เพื่อเข้าสู่ระดับความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเป็นลำดับคือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven Economy)
และเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ในที่สุด

แหล่งที่มา โดย วรากรณ์ สามโกเศศ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11422

Presentation click เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับประเทศไทย
Presentation เรื่อง “จากพลังความคิดสู่....เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Transforming Thai Society with Creativity) บรรยายโดย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน)
Presentation เรื่อง “การชี้แจงแนวทางการระดมความเห็นกลุ่มย่อย จากพลังความคิด...สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” บรรยายโดย รองเลขาธิการ สศช. (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ)

Presentation การระดมความเห็นกลุ่มย่อย
กลุ่มที่ 1:“วัฒนธรรมสร้างค่า ภูมิปัญญาสร้างไทย” (ด้านมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม)
กลุ่มที่ 2:“ออกแบบนำคุณค่า พัฒนางานฝีมือไทย” (ด้านอุตสาหกรรมช่างฝีมือ สินค้าเชิงสร้างสรรค์และออกแบบ)
กลุ่มที่ 3:“ผสานสื่อ สาระและบันเทิง เบิกทางเศรษฐกิจใหม่” (ด้านอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง และซอฟท์แวร์)

http://www.unctad.org/en/docs/ditc20082cer_en.pdf

แหล่งความรู้













จินตนาการสู่ปี 2000 : นวกรรมเชิงกระบวนทัศน์ด้านไทยศึกษา? ประชาธิปไตยไทยหลังสมัยใหม่ "ท่อง" ไปในแดนโพสต์โมเดิร์น: ความเหมือน/อัตลักษณ์และความแตกต่างในการเมือง สภาวะสมัยใหม่ของวัฒนธรรมการอ่าน : ห้องสมุดกับการเผชิญหน้ากันของ ตา และ หู ความรู้ต้อง(ไม่)ห้าม: จักรญาณนิยม การรวมศูนย์ศิลปะของการกระจายตัวของศิลปะและการเมือง

http://toshokanreview.blogspot.com/2010/01/pdf.html
http://thaneswongyannawa.blogspot.com/2010/01/blog-post_02.html

วันศุกร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

ระหว่าง “ตลาด” กับ “ศิลปะ”

[หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย / ธนา วงศ์ญาณณาเวช / Unfinished Project Publishing, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551]

หนังสือเล่มบางๆ นี้ตบตาคนอ่าน แอบแฝงมาอยู่ในชั้นหนังสือเกี่ยวกับหนัง ทำท่าเหมือนจะอธิบายความเป็นหนังศิลปะว่าไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ประกอบขึ้นมาจากปัจจัยมากมาย ทว่าคนรักหนังอ่านแล้วอาจจะหงายหลังล้มตึง เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้ยกมานั้น เป็นไปเพื่อถอดรื้อมายาคติเกี่ยวกับความเป็นศิลปะของหนังต่างหาก

พูดง่ายๆ ว่าหนังไม่ได้เป็นศิลปะในตัวเอง แต่ความเป็นศิลปะของหนังประกอบสร้างขึ้นมาจากกรอบความคิดและสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความจริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการในสายสังคมศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรมเพื่ออธิบายวาทกรรมในการประกอบสร้างแนวคิดนั้นๆ ขึ้นมา เพียงแต่เขียนในรูปแบบที่ลำลองหน่อยเท่านั้น

ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามแฝงของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับ “เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น” คนหนึ่งของเมืองไทย ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากความรู้ที่ล้วงลึกเข้าไปในรากเหง้าของวัฒนธรรมตะวันตกอันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาสมัยใหม่ทั้งหลาย จนเห็นที่มาของกระสวนความคิดซึ่งสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากจะเข้าใจให้ถ่องแท้ก็ต้องรู้ซึ้งถึงที่มานั้นด้วย

แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ หรือ Postmodernism ส่วนใหญ่จะเป็นการถอดรื้อปรัชญาสมัยใหม่ลงในหลายด้าน แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเข้าใจความเป็นสมัยใหม่อย่างถ่องแท้เสียก่อน นักวิชาการผู้นี้เสนอผลงานศึกษาเรื่องยากๆ ยุ่งๆ เหล่านี้ออกมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่าใคร มิเพียงเท่านั้นลีลาของเขายังเป็นแบบโพสต์โมเดิร์นโดยเนื้อแท้ ขณะที่นักวิชาการท่านอื่นอาจจะพยายามเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” ด้วยระเบียบวิธีที่ชัดเจนแบบ “สมัยใหม่” แต่ “ธนา” ยังคงทิ้งร่องรอยวกวนแตกกระจายไม่รู้จบในสัมพันธบทของความหมาย อันเป็นภาวะพื้นฐานอย่างหนึ่งของความเป็นหลังสมัยใหม่

ดังจะเห็นว่า ด้วยความที่เป็นคนรู้เยอะ การเล่าเรื่องของเขามักจะมีการอธิบายขยายความซ้อนการอธิบายขยายความต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนยากที่จะจับเค้าโครง หรืออาจจะไม่มีเค้าโครงเลย นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยของประเด็นที่กำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้นหนึ่งประโยคของเขาอาจจะขยายยาวได้หลายหน้ากระดาษ นอกจากนี้ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็ออกไปทางแผลงๆ แต่ละลานตาไปด้วยความรู้สารพันอย่างคาดไม่ถึง

ด้วยหน้าที่การงานแล้ว “ธนา” เป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ แต่เขาก็มีผลงานครอบคลุมหลายศาสตร์ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ความคิดและวัฒนธรรมศึกษา ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามที่เขาใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับหนัง ดนตรี หรือมหรสพอื่นๆ เป็นประจำ สวนใหญ่จะเป็นมหรสพชั้นสูงของตะวันตกที่ต้องใช้ความรอบรู้เป็นพิเศษ หรือแม้จะเขียนถึงหนังธรรมดา เขาก็จะตีความประเด็นที่สนใจเสียจนล้ำลึก

หนังสือ “หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย” ไม่ได้เขียนถึงตัวหนังโดยตรง แต่เขียนถึงกระบวนการของการสร้างคุณค่าในเชิงศิลปะให้กับหนัง เพื่ออธิบายเชื่อมโยงถึงสภาพการณ์บางอย่างในสังคม กรณีศึกษาที่เขายกมาเป็นตุ๊กตาในครั้งนี้คือสถานะของภาพยนตร์ในสังคมอเมริกันและยุโรปในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มวางรากฐานบางอย่างที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ธนาเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นว่าเดิมทีภาพยนตร์ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะ “ศิลปะ” เพราะเห็นว่าเป็นผลผลิตของ “ยนตร์” หรือ “เครื่องจักร” มิใช่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งหมดเหมือนภาพวาด ดนตรี หรือศิลปะแขนงอื่นๆ

สำนึกถึงคุณค่าในเชิงศิลปะของชาวยุโรปเข้มข้นขึ้นเมื่อเครื่องจักรมีบทบาทในการผลิตแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ของที่ผลิตโดยฝีมือมนุษย์จึงถูกยกระดับให้มีความพิเศษกว่า เพราะผลิตได้น้อยกว่า และไม่ซ้ำกันเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม แต่กระนั้นก็เป็นค่านิยมที่มีขอบเขตจำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำในสังคมเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปใช้ข้าวของจากโรงงานอุตสาหกรรมในชีวิตประจำวันกันหมดแล้ว

สังคมอุตสาหกรรมยังนำมาซึ่งมวลชน (Mass) ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน และขาดลักษณะจำเพาะตนแบบปัจเจกชนที่มีวิจารณญาณของตัวเอง นั่นเองที่ปัญญาชนเห็นว่าเสียงข้างมากอาจทำลายอุดมคติของประชาธิปไตยลงได้ในวันหนึ่ง หากเป็นมวลชนที่มีแต่ปริมาณ แต่ขาดประสิทธิภาพในการใช้เหตุผล ดังเช่นกรณีของฮิตเลอร์และพรรคนาซีเยอรมันในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

หรือตัวอย่างของรสนิยมมวลชน ซึ่งมักจะเป็นที่ทนไม่ได้ของปัญญาชน แม้พวกเขาจะอ้างว่ายืนเคียงประชาชนส่วนใหญ่เพียงใดก็ตาม หนังที่ปัญญาชนยกย่องว่าดีอาจไม่มีใครดูเลย ขณะที่หนังซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบดูอาจเป็นไปในทางที่ปัญญาชนต้องส่ายหน้า

ธนาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมยุโรปกับสังคมอเมริกันผ่านทางสภานะของภาพยนตร์ สังคมยุโรปยังมีสำนึกเรื่องชนชั้น แรกเริ่มก็มองว่าหนังเป็นความบันเทิงชั้นต่ำราคาถูก ไม่ได้มีความเป็นศิลปะ ต่อมาเมื่อต้องต่อสู้กับรสนิยมสาธารณ์ของหนังอเมริกัน ก็หันมายกย่องความเป็นศิลปะของหนังไว้เสียจนเลิศลอยห่างไกลจากตลาด ขณะที่สังคมอเมริกันเองก็มีแต่สำนึกเรื่องการค้าขาย เพราะฉะนั้นหนังฮอลลีวู้ดจึงไม่เคยสนใจว่ามันจะเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ นอกจากว่าจะขายได้มากหรือน้อยเท่านั้น

เช่นนั้นเองหนังฮอลลีวู้ดจึงแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกในฐานะสินค้าเพื่อความบันเทิงที่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ขณะที่หนังยุโรปต้องจำกัดตัวเองอยู่กับโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์เล็กๆ ตามสถาบันที่มีคนดูอยู่ไม่กี่คน

สถานการณ์ในปัจจุบันอาจต่างไปจากเมื่อก่อนมาก เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง หนังก็มีหลากหลายประเภทมากขึ้น จนไม่สามารถแบ่งแยกเป็นหนังตลาดกับหนังศิลปะได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว

เช่นนั้นเองความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากโครงสร้างการผลิตและฐานคิดที่ต่างกันก็อาจละลายไปได้ด้วยความหลากหลาย การแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายอาจเป็นแค่ภาพลวงตาจากความคุ้นเคยของวิธีคิด หนังอเมริกันไม่ได้มีแค่หนังตลาด หนังยุโรปก็ไม่ได้มีแค่หนังศิลปะ ตลาดหรือความเป็นศิลปะไม่ได้แบ่งออกจากกันอย่างเด็ดขาดด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก แต่แบ่งแยกออกจากกันด้วยความคิด และแท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกก็ยากที่จะแบ่งแยกหมวดหมู่ไปตามความคิดของมนุษย์

เขียนรูปด้วยสีเดียวยากที่จะทำให้สวย ความขัดแย้งระหว่างสี 2 สีก็อาจละลายหายไปได้ด้วยการระบายสีที่หลากหลายลงไปในภาพ.

คู่มือมนุษย์ในวัฒนธรรมบันเทิง

[วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย : การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2491-2500 / ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ / ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, มกราคม 2550]

ทศวรรษ 2490 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคปัจจุบันของสังคมไทย ด้วยพื้นฐานสำคัญหลายด้านที่จัดวางไว้ตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก่อนที่จะพัฒนาต่อมา โดยแทบไม่เคยเปลี่ยนพื้นฐานเดิมนั้นเลย จะเปลี่ยนก็เพียงเครื่องทรงภายนอกเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หากจะทำความเข้าใจกับสังคมไทยปัจจุบัน การย้อนกลับไปศึกษาพื้นฐานในเวลานั้นน่าจะให้คำตอบที่น่าพิจารณาไม่น้อย

ระหว่างปี พ.ศ. 2491-2500 สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากก่อนหน้านี้ที่ปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตอนต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านการปรับปรุงให้เทียมหน้าอารยประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แต่ก็เป็นการวิวัฒน์แบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้ส่งผลทั้งสังคม เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังไม่ขยับขยายมากนัก

แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไป ยุโรปซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อนต้องยับเยินจากสงคราม ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้บอบช้ำจากสงครามโดยตรง และอยู่ในฐานะผู้ชนะ กลายเป็นมหาอำนาจผู้นำของประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลไทยในเวลานั้นเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และแสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน ทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และวิชาการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญเติบโตและมีกำลังพอที่จะเป็นหน้าด่านในการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

กลุ่มอำนาจชั้นนำในสังคมไทยเวลานั้นก็ใช้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังในการยึดครองพื้นที่ทางการเมืองเหนือคนกลุ่มอื่นด้วย วัฒนธรรมอเมริกันจึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมากนับแต่นั้น

ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงประการสำคัญมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เห็นได้ชัดจากการเติบโตของกรุงเทพฯ จากก่อนหน้านี้ที่มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร หรือแทบจะไม่ต่างจากหัวเมืองสำคัญอื่นๆ มากนัก ตอนนั้นเริ่มขยายพื้นที่ออกไปในทุกทิศทางอย่างรวดเร็ว ประชากรก็เพิ่มมากขึ้นจนระบบสาธารณูปโภครองรับไม่ทัน เกิดคนกลุ่มใหม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ด้วยโอกาสทางการค้าที่ต่างจากช่วงก่อนสงคราม กลุ่มคนที่มีการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้น และยังมีกลุ่มคนจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองที่เป็นผู้กำหนดแนวทางของวัฒนธรรมในสังคมแทนคนกลุ่มเดิม

หนังสือ “วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย : การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2491-2500” ของ ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ เป็นงานศึกษาปัจจัยสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเวลานั้น โดยกำหนดหัวข้อไว้ที่วัฒนธรรมความบันเทิงหรือมหรสพของคนกรุงเทพฯ

งานศึกษาปูพื้นให้เห็นตั้งแต่วัฒนธรรมความบันเทิงแบบเดิมของสังคมไทยแต่เก่าก่อน ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรม เช่น ดนตรีที่ใช้ในงานพระราชพิธี โขน หรือหนังใหญ่ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ส่วนของชาวบ้านก็มีทั้งความบันเทิงเชิงพิธีกรรม และการร้องรำทำเพลงในชีวิตประจำวัน แต่วัฒนธรรมความบันเทิงของราชสำนักกับวัฒนธรรมความบันเทิงของราษฎรก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อราชสำนักรับเอารูปแบบของมหรสพจากชาวบ้านมาพัฒนาให้ประณีตงดงามเป็นแบบแผน แล้วย้อนกลับลงไปมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมบันเทิงของราษฎรอีกที เช่น ดนตรี ละคร หรือท่ารำต่างๆ

การรับอิทธิพลจากต่างชาติก็สำคัญ เพราะความน่าสนใจของมหรสพมักจะอยู่ที่ความแปลกใหม่ด้วย อย่างลิเกก็เป็นการแสดงที่พัฒนามาจากการสวดแขก แต่ได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับรสนิยมของชาวบ้านอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมตลอดมา

ระยะหลังอิทธิพลสำคัญคงหนีไม่พ้นวัฒนธรรมตะวันตก เพราะการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปพัฒนาไปทางนั้น
จนมาถึงทศวรรษ 2490 วัฒนธรรมความบันเทิงในสังคมไทยเริ่มมีรูปแบบที่พบเห็นกันในปัจจุบันมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมความบันเทิงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่สืบต่อมาจากราชสำนัก ทั้งบุคลากรและแบบแผน เพราะถือว่าเป็นศิลปะที่ได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นคลาสสิกแล้ว สมควรจะได้รับการบำรุงรักษาไว้เป็นสมบัติและเอกลักษณ์ของชาติต่อไป กลุ่มต่อมาคือวัฒนธรรมความบันเทิงร่วมสมัย ซึ่งส่วนใหญ่รับรูปแบบมาจากสังคมตะวันตก แล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยสมัยใหม่ เช่น เพลงปลุกใจ หรือเพลงไทยสากลของวงสุนทราภรณ์ เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มคือวัฒนธรรมความบันเทิงของชาวบ้าน เช่น ลิเก และเพลงตลาดหรือเพลงลูกทุ่ง

เหล่านี้สะท้อนลักษณะของการอุปถัมภ์ ซึ่งแต่เดิมราชสำนักและชุมชนเป็นผู้อุ้มชูศิลปะประเภทต่างๆ ปัจจุบันรัฐบาลและตลาดผู้บริโภคเป็นคนสนับสนุน เพราะฉะนั้นรูปแบบก็ต้องตอบสนองต่อความต้องการ ซึ่งยังคงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มนั่นเอง คือ วัฒนธรรมความบันเทิงตามแบบแผนที่ใช้จารีตเดิมเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ วัฒนธรรมความบันเทิงร่วมสมัยที่ใช้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นมาตรฐาน ตามรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดำเนินตามสังคมตะวันตก และวัฒนธรรมความบันเทิงของชาวบ้านที่ใช้วิถีชีวิตเป็นมาตรฐาน แม้จะรับอิทธิพลจากที่อื่นก็มักจะนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับโลกทัศน์และความเป็นอยู่ของตน

แม้ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะผสมปนเปกันบ้างในบางครั้ง แต่ต่อไปช่องว่างของความแตกต่างอาจจะห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะของความแตกต่างในสังคม กล่าวคือ เอกลักษณ์ของความเป็นชาติจะถูกท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ จนกลายเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวัน ขณะที่คนส่วนหนึ่งเข้าถึงและกลมกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ จนการดำเนินชีวิตเป็นแบบตะวันตกโดยสมบูรณ์ แต่คนอีกส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในสังคมแบบเดิมนั่นเอง

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะสามารถพัฒนาเครื่องมือในการประสานและไกล่เกลี่ยความแตกต่างนั้นอย่างไร แต่ก็คาดได้ว่าน่าจะยืนอยู่บนพื้นฐานเดิมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับรากเหง้าของสังคมไทยให้ถ่องแท้ หากจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างเป็นปกติสุข.

http://www.nokbook.com/book_culture.html

สังคมวิทยาในภาพยนตร์ศึกษา

[โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท / บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา / Public Bookery, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2552]
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับนับถือประหนึ่งว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งในบ้านเรา คือ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา และด้วยการศึกษาและสอนวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของสื่อสารมวลชนมายาวนานหลายสิบปี ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ในทางวิชาการของภาพยนตร์ศึกษาและการวิจารณ์ภาพยนตร์ในบ้านเราด้วย

หนังสือ “ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย” กลายเป็นตำราที่นักสื่อสารมวลชนควรจะอ่าน เช่นเดียวกับหนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ด เพื่อวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์” ก็เป็นตำราที่ผู้สนใจในภาพยนตร์และการวิจารณ์ภาพยนตร์ควรจะอ่านด้วย

หนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” (ปี 2533) ถือเป็นหนังสือกึ่งวิชาการเล่มแรกๆ ในบ้านเราที่พยายามยืนยันคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง นอกเหนือจากความบันเทิงที่คนทั่วไปคุ้นเคย ด้วยน้ำหนักของหลักวิชาที่แน่นหนา ชวนให้พิเคราะห์ภาพยนตร์เป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่ตีความและเรียนรู้ได้หลายแง่มุม

พอมาถึงหนังสือ “โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท” อ.บุญรักษ์ ก็เน้นให้เห็นถึงคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะเอกสารทางสังคมมากขึ้น

“ว่ากันทางสังคมศาสตร์ ภาพยนตร์คือเอกสารทางสังคมชนิดหนึ่ง ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ พลังทางสังคมมากมาย นับตั้งแต่สัมพันธภาพระหว่างรัฐและชนชั้น จนกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกชน ต่างก็เข้ามามีส่วนส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของภาพยนตร์อย่างพิสดารทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์จึงเป็นเอกสารในทำนองเดียวกันกับหนังสือ” (หน้า 95)

จะว่าไปแล้วหนังสือเล่มนี้ก็เป็นภาคต่อของ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” นั่นเอง คือรวบรวมเอกสารการสอนและบทความที่ อ.บุญรักษ์ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน ตั้งแต่ปี 2534-2549 ร่วม 15 ปีที่มีหลายประเด็นต่อเนื่องมาจาก “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” ตามการพัฒนาของภาพยนตร์ทั้งในระดับสากลและในบ้านเราเอง เป็นช่วงยาวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เทคนิคการถ่ายทำ และเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ยกตัวอย่างเช่นในวงการภาพยนตร์ไทย หนังสือเล่มนี้บันทึกสภาพการณ์และแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งภาพยนตร์ไทยตกอยู่ในสภาพ “ไปไม่ถึงไหน” และ “ตกอยู่ในฐานะที่ไม่แตกต่างจาก ‘ศิลปะพื้นบ้าน’ คล้ายๆ กับลิเก อันตกค้างมาจากวัฒนธรรมเก่า” (หน้า 81) จนมาถึงปลายทศวรรษ 2540 ซึ่งภาพยนตร์ไทยเป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศ และเริ่มประสบความสำเร็จในระดับโลกประปราย ทั้งในแง่การค้าและศิลปะ ดังเช่นหนังของ จา พนม และ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นต้น

จะเห็นข้อเสนอแนะของ อ.บุญรักษ์ เป็นลำดับ ตั้งแต่การเสนอให้ปฏิรูปธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดใหม่ๆ ที่มีอำนาจในการซื้อ การเสนอให้ตั้งสถาบันภาพยนตร์ เพื่อเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาและกำหนดทิศทางในภาพรวม การชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์หนังเก่า ซึ่งถือเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” ตลอดจนการชี้ให้เห็น “มูลค่า” ของงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ในทางเศรษฐกิจ จนอาจกล่าวได้ว่า อ.บุญรักษ์ เป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่อง Creative Economy มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน

“ศิลปะและวัฒนธรรมจะเป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง ทั้งนี้โดยยึดการเปิดรับศิลปะและวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเลือกสรร ประกอบกับการพัฒนาสัดส่วนที่งดงามใน “ความเป็นไทย” ขึ้นในกรอบของชาตินิยมก้าวหน้า (progressive nationalism) ซึ่งเป็นการผสมผสานของดีจากภายนอกและภายในอย่างรู้สึกตัว” (หน้า 105)

จนมาถึงข้อแนะนำในยุคภาพยนตร์ไทย “โก อินเตอร์”

“ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยสำหรับตลาดโลกยังจะต้องเสาะแสวงหาและผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ทวีป ภูมิภาค กลุ่มวัฒนธรรม และภาษาต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายที่กำกับธุรกิจภาพยนตร์ในแต่ละตลาดเป็นอย่างดีด้วย / องค์ความรู้ประเภทนี้คือ ‘กรอบแห่งการอ้างอิง’” (หน้า 113)
ภาคที่หนึ่งของหนังสือ เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง นโยบาย และบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ไทย” ภาคที่สอง เป็นประสบการณ์จาก “บางกระแสในภาพยนตร์ระหว่างประเทศ” ตั้งแต่บทบาทของฮอลลีวูดในฐานะเจ้าโลก กินส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จนกล่าวได้ว่า “โรงงานแห่งความฝัน” เหล่านี้เป็นอุสาหกรรมชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และเป็นสินค้าส่งออกข้ามชาติที่ก่อรายได้มหาศาล จนภาพยนตร์สัญชาติอื่นไม่อาจเทียบเทียม

นอกจากนี้ค่านิยมตามความฝันแบบอเมริกันยังแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านทางภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วย จนไปมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ในสังคมต่างๆ ไม่น้อย

กระนั้นก็ยังมีหนังบางประเภทที่คัดง้างกับค่านิยมกระแสหลัก ซึ่งดูจะเป็นหนังที่ อ.บุญรักษ์ ชอบที่จะวิเคราะห์เป็นพิเศษ ดังตัวอย่างของหนังที่เลือกมาเขียนถึงในส่วนหลังของหนังสือ นอกจากจะให้ข้อมูลของหนังและผู้กำกับโดยสังเขปแล้ว ยังจะได้รู้ถึงบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง ดังที่ อ.บุญรักษ์ เรียกว่าเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท (contextual criticism) ซึ่งมุ่งสำรวจตีความภาพยนตร์แต่ละเรื่องตามสายใยความสัมพันธ์ที่แวดล้อมอยู่ในหลายระดับความหมาย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองที่ผู้เขียนมีความสนใจอยู่เป็นพื้นฐาน

จาก “ความเบื้องต้น” อ.บุญรักษ์ ได้เรียบเรียงให้มองเห็นพัฒนาการไว้ก่อนแล้วว่า การวิจารณ์ภาพยนตร์เริ่มจากตัวบทก่อน จากนักวิจารณ์ในตระกูลวารสารศาสตร์ที่รายงานและปริทัศน์ภาพยนตร์เป็นคู่มือการบริโภคในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ต่อมาก็เกิดนักวิจารณ์ในตระกูลมนุษยนิยม ซึ่งเริ่มวิเคราะห์หนังอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และมีหลักในการประเมินคุณค่าบ้างแล้ว

พอเข้าสู่ยุค 60-70 การศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นวิชาการก็เริ่มแพร่หลายไปในหลายมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดทฤษฎีเกี่ยวกับภาพยนตร์ขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็พัฒนามาเป็นการวิจารณ์สำนักบริบท ซึ่งใช้ความรู้หลากหลายสาขามาทำความเข้าใจภาพยนตร์ เพื่อให้เข้าใจมิติทางสังคมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

บริบทเหล่านี้ช่วยทำให้เห็นว่าหนังก็เป็นบ่อเกิดของการเติบโตทางสติปัญญาได้อีกทางหนึ่ง.

http://www.nokbook.com/book_context.html
http://www.nokbook.com/head_book2.html