วันพุธที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
วันอังคารที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒
บทความวัฒนธรรม
ดร. รัตนา โตสกุล*
วัฒนธรรม คือ อะไร?
นิยามความคิดในเรื่องวัฒนธรรมมีหลากหลาย ไม่หยุดนิ่ง และมีการแปรเปลี่ยนไปตามสภาพกาละ เทศะ และเงื่อนไขต่างๆที่เป็นบริบททางสังคมวัฒนธรรมใหม่ๆของผู้คนในแต่ละยุคสมัย บทความเรื่องนี้มุ่งทบทวนความคิดที่เกี่ยวข้องกับความหมายของคำว่า วัฒนธรรม จากงานวรรณกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทางมานุษยวิทยาเป็นหลัก เพื่อเปิดประเด็นการแลกเปลี่ยนกันในแวดวงทางวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม รวมทั้งผู้สนใจทั่วๆ ไป อันจะเป็นการขยายพรมแดนความรู้อันกว้างขวางเกี่ยวกับความคิดด้านวัฒนธรรม งานเขียนนี้ผู้เขียนได้อาศัยกรอบความคิดทางมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมเป็นด้านหลัก เนื่องจากการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์นี้
ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยทั่วๆ ไป เชื่อกันว่า วัฒนธรรมกับสังคมเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งสังคม หมายถึง กลุ่มชนที่มาอยู่ร่วมกันและมีการกระทำระหว่างกัน ในขณะที่ วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนในการดำเนินชีวิตที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีร่วมกัน กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรม คือ วิถีชีวิตของคนในสังคม หรือที่เรียกกันในภาษา อังกฤษว่า way of life
ยศ สันตสมบัติ (252540: 11-13) เสนอว่า ลักษณะพื้นฐานที่เป็นความหมายร่วมของวัฒนธรรม มีดังนี้:
1. วัฒนธรรมเป็นความคิดร่วมของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ
2. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ สืบทอดได้โดยผ่านกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมทั้งในด้านวิธีคิดและวิถีปฏิบัติจากมนุษย์รุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งสืบทอดทางสายโลหิต หรือ ทางชีวภาพพันธุกรรม
3. วัฒนธรรมยังมีพื้นฐานมาจากการสื่อผ่านระบบสัญลักษณ์ เช่น ภาษา พิธีกรรม งานศิลปะ
4. วัฒนธรรมเป็นผลรวมขององค์ความรู้และภูมิปัญญา
5. วัฒนธรรม คือกระบวนการที่มนุษย์กำหนดนิยามความหมายให้กับชีวิตและสิ่งต่างๆรอบตัว
6. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง มีพลวัตร เคลื่อนไหว ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นิยพรรณ วรรณศิริ (252540: 47-48) สรุปประเภทวัฒนธรรมว่า มีทั้งที่เป็นวัฒนธรรมเชิงนามธรรม หรือจิตใจและรูปธรรม หรือวัตถุ และแยกประเภทวัฒนธรรมตามระบบวัฒนธรรมสากล ดังต่อไปนี้: ภาษาและการสื่อความหมาย,วัฒนธรรมเชิงวัตถุ (เช่น เสื้อผ้า อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้คน การเดินทางขนส่ง เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ อาชีพ อุตสาหกรรมต่างๆ), ศิลปะทุกแขนง (สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ปฏิมากรรม การฟ้อนรำ ดนตรี
เพลง การละเล่นพื้นบ้าน และอื่นๆ), ระบบศาสนาและรูปแบบ, ระบบครอบครัว การแต่งงานและเครือญาติ, ระบบเศรษฐกิจและทรัพย์สิน, ระบบการปกครองและรัฐบาล (การเมือง การปกครอง นิติบัญญัติ ตุลาการ และระบบควบคุมสังคมอื่นๆทุกประเภท), การศึกสงคราม (ระหว่างเครือญาติ คนในสังคมเดียวกัน และระหว่างสังคม), การกีฬาและการละเล่น, และ ระบบความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทานพื้นบ้าน นิทานปรัมปราที่ให้ความรู้แก่สังคมทางอ้อม ถ้าหากยึดเกณฑ์ตามที่กล่าวมานี้ เราจะพบว่า ขอบเขตของวัฒนธรรมค่อนข้างกว้างขวาง ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตมนุษย์ และไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับสิ่งที่เป็นเรื่องโบราณในประวัติศาสตร์ หรือเกี่ยวข้องเฉพาะงานเทศกาล บุญประเพณีขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่สมัยโบราณ แต่มีพัฒนาการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกด้าน เกี่ยวพันกับมิติด้านเวลาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และเชื่อมโยงสู่อนาคต
ในสังคมไทย นิยามที่คนไทยได้รับรู้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และเป็นนิยามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2542 นั่นคือ วัฒนธรรม หมายถึง ความเจริญงอกงาม หรือสิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้หมู่คณะ หากย้อนไปในอดีต เราพบว่า นิยามของไทยชุดนี้ใกล้เคียงกับ คำว่า วัฒนธรรมของยุคสมัยกรีกโบราณ ที่เน้นการพิจารณาในเชิงคู่ตรงข้าม กาญจนา แก้วเทพ (2544: 9-11) ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรม ในยุควางรากฐานเริ่มตั้งแต่สมัยกรีกโบราณก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 มีนัยยะสื่อถึง ผลผลิตของการควบคุม ดัดแปลง ขัดเกลาสภาวะที่เป็นธรรมชาติ “ดิบ” ให้ “สุก” ปรากฏทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึก สำนึก ความเชื่อ ความปรารถนา การประพฤติความสามารถของมนุษย์ในการควบคุมธรรมชาติด้วยการจัดการและการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ เทคโนโลยี สิ่งก่อสร้าง การคิดสร้างภาษาและความหมาย การติดต่อสื่อสาร ศิลปะ และอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง
กระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมช่วยในการขัดเกลา บ่มเพาะสภาวะธรรมชาติที่ “ดิบ” ให้ “สุก” ก่อให้เกิดการมีวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มชนที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผู้มีอารยะ โดยนัยยะนี้ วัฒนธรรม จึงมีความหมายถึง การทำให้มนุษย์เจริญงอกงามด้วยการบ่มเพาะ ขัดเกลา อบรม ปลูกฝังและควบคุมสภาวะที่ “ดิบ” อันเป็นธรรมชาติ ให้เป็นสภาวะที่เจริญงอกงาม หรือ “สุก” นั่นเอง
ประเด็นที่น่าจะตั้งคำถามต่อไป คือ สังคมประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายวัฒนธรรม สิ่งที่เรียกว่า “เจริญงอกงาม” ในแต่ละสังคมมีเพียงมาตรฐานเดียวหรือไม่ กำหนดคุณค่ามาจากอะไร เป็นมาตรฐานของชนกลุ่มใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น กลุ่มใดได้ประโยชน์ กลุ่มใดเสียประโยชน์ ความคิด ความเชื่อที่แสดงออกในพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายเรื่องที่ไม่เข้าข่ายการก่อให้เกิดความงอกงามตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดจะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ในลักษณะใด หรือจะต้อง
ถูกขจัดตัดออกไปโดยปริยายเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานชุดที่ว่าด้วย “ความเจริญงอกงาม” ในแต่ละสังคม
พัฒนาการทางความคิดด้านวัฒนธรรม
วัฒนธรรมสายวิวัฒนาการ
จากการค้นคว้าของ โครเบอร์และคลักคอน (Kroeber & Kluckhorn 1952) พบว่า นักมานุษยวิทยาให้นิยามมากมายเกินกว่า 100 ชุด เกี่ยวกับความหมายของ คำว่า วัฒนธรรม กล่าวโดยสรุปรวม วัฒนธรรมหมายถึง ระบบความเชื่อ และค่านิยมทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์ พฤติกรรมมนุษย์ไม่ใช่วัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมคือ ระเบียบกฎเกณฑ์มาตรฐานของพฤติกรรมที่คนในสังคมยอมรับ กล่าวได้ว่า วัฒนธรรม คือ วิถีชีวิต ของมนุษย์ในสังคมนั่นเอง อี. บี. ไทเลอร์ (Tylor 1871) เป็นผู้ใช้คำว่า วัฒนธรรม ในระยะเริ่มแรกของการศึกษาทางมานุษยวิทยา ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนิยามว่า เป็นผลรวมที่ซับซ้อนของความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรมจรรยา กฎหมายขนบธรรมเนียมประเพณี ความสามารถ หรือลักษณะนิสัยที่มนุษย์ได้มาอันเป็นผลมาจากการเป็นสมาชิกในสังคม(“complex whole which includes knowledge, belief, art, law, custom, and other capabilities and habitsacquired by man as a member of a society.”)
นิยามที่ไทเลอร์เสนอยังมีอิทธิพลต่อแวดวงวิชาการทางมานุษยวิทยาค่อนข้างมาก ผลรวมทางวัฒนธรรมตามนิยามของเขาสื่อนัยยะถึงวิวัฒนาการของวัฒนธรรมที่ต้องเป็นไปตามลำดับเส้นตรงแบบทางเดียว หมายถึง ผลรวมขององค์ประกอบต่างๆในชีวิตมนุษย์ที่รวมกันเข้าเป็นวัฒนธรรมจะมีวิวัฒนาการในแบบเดียวกันในทุกสังคม โดยมีแนวโน้มที่จะวิวัฒน์ไปในทำนองเดียวกันตามลำดับขั้น ทัศนะของไทเลอร์และนักมานุษยวิทยาในช่วงต้นๆ เช่น ลิวอิส เฮนรี่ มอร์แกน
(Bohannan 1988) ให้ความสำคัญในเรื่องวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมอย่างเป็นลำดับชั้นเริ่มจากระดับต้นๆที่ยังเรียบง่ายขั้นปฐมภูมิ ไปสู่ระดับที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนยิ่งขึ้นๆจนถึงขั้นสูงสุดที่เรียกว่า อารยธรรม (civilization) ของมวลมนุษยชาติในขั้นที่เรียกว่า อารยธรรมมีนัยยะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของพวกผิวขาวคอร์เคเซี่ยนในยุโรปในยุคสมัยล่าอาณานิคมของความคิดในลักษณะนี้ก่อให้เกิดการกำหนดบรรทัดฐานหรือให้คุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มชนต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน เกิดสภาพวัฒนธรรมหลัก โดยมีศูนย์กลางที่โลกตะวันตก คู่ขนานไปกับวัฒนธรรมย่อย รองหรือชายขอบ ซึ่งมีแนวโน้มจะอยู่บริเวณดินแดนในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ความคิดนี้ยังมีผลต่อการปลูกฝังหรือสร้างทัศนะที่ดูถูกเหยียดหยามกลุ่มชนอื่นๆที่เชื่อว่ามีวัฒนธรรมด้อยกว่า เช่น การใช้คำว่า วัฒนธรรมคนป่าคนดง วัฒนธรรมคนป่าเถื่อน หรือ วัฒนธรรมคนบ้านนอก เป็นต้น เกิดการแบ่งแยกกลุ่มออกเป็นพวกเรา (We) พวกเขา (Others) ทัศนะที่เชื่อว่าวัฒนธรรมตนเองสูงส่งกว่าของกลุ่มชนอื่นๆ มีชื่อเรียกเป็นศัพท์เฉพาะทางมานุษยวิทยาว่า อคติทางชาติพันธุ์(Ethnocentrism)
อคติทางชาติพันธุ์ส่งผลให้เกิดปัญหาความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมต่างๆมากมาย ดังที่ปรากฏเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในหลายประเทศ แม้แต่ปัญหาในเรื่องจินตนาการของความเป็นไทยที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางสังคมวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเทศไทย พึงระลึกว่า นิยามหรือคำจำกัดใดๆก็ตามไม่เพียงแต่เสนอกรอบความคิด มุมมอง หากแต่มีภาคปฏิบัติการของวาทกรรมที่นำเสนอด้วย โดยวาทกรรมแต่ละชุดจะทำหน้าที่จำแนกแยกแยะกลุ่มที่เข้าข่ายและขจัดกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายออกไปพร้อมๆกัน ปัญหาที่จะตามมาในสังคม คือ บรรทัดฐาน ค่านิยม หรือ กฎเกณฑ์ในแต่ละด้านถูกกำหนดมาจากมาตรฐาน หรือการให้คุณค่าของใคร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเพียงมาตรฐาน
เดียว ไม่เคารพและไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมก็มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดหรือสร้างความรู้สึกแตกแยกและแปลกแยกในระหว่างผู้คนที่มีวิถีชีวิตในโลกวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ในยุคล่าอาณานิคม (colonialism) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 กลุ่มประเทศเมืองแม่ที่มาจากยุโรปใช้มาตรฐานจากวัฒนธรรมตนเองที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมกรีก และโรมัน ผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องผิวสี เชื้อชาติ(racism) เป็นตัวตั้งในการอธิบายสภาวะที่ถูกอ้างว่าวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองเหนือกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองดินแดนเมืองขึ้น ดังนั้นบรรดากลุ่มชนพื้นเมืองต่างๆที่อยู่ในอาณานิคมภายใต้การปกครองดูแลของจักรวรรดินิยมจากยุโรปจึงถูกมองว่าเป็นคนป่า คนเถื่อน พวกไร้วัฒนธรรม หรือมีวัฒนธรรมในลำดับขั้นปฐมภูมิมากๆ จำเป็นที่จะต้องได้รับการขัดเกลา ฝึกอบรม บ่มเพาะ และควบคุมความคิด และวิถีปฏิบัติให้มีแนวทางใกล้เคียงกับอารยชนในยุโรป วัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่ในลำดับขั้นสูงเรียกว่า ศิวิไลซ์ จึงมีนัยยะที่อิงวัฒนธรรมยุโรปนิยมเป็นต้นแบบ ซึ่งในระยะเวลาต่อมาได้กลายเป็นมาตรฐานของวัฒนธรรมพวกชนชั้นนำ (Elitist culture) ในดินแดนที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมยุโรป รวมทั้งดินแดนในกลุ่มประเทศโลกที่สามหลายแห่งที่ยอมรับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมยุโรปและประเทศอื่นๆที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองจากซีกโลกตะวันตกเข้าไปในสังคมของตนเองผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในการสร้างวัฒนธรรมกลุ่มชนชั้นนำ
กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรมกับอำนาจ (ทางเศรษฐกิจการเมือง) เป็นของคู่กัน และหนุนเสริมซึ่งกันและกันปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวข้างต้นไม่ได้เกิดเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมืองแม่กับเมืองบริวารในยุคล่าเมืองขึ้นเท่านั้น หากพิจารณาให้ดี ความคิดในเรื่องอคติเชิงชาติพันธุ์ ก็ยังแฝงตัวเข้าไปในกระบวนการทางวัฒนธรรมภายในสังคมหลายแห่ง ดังจะเห็นได้จากกระบวนการสร้างรัฐชาติของกลุ่มชนพื้นเมืองภายหลังการได้รับเอกราชในหลายดินแดน วัฒนธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องให้เป็นกระแสหลักมักมีแนวโน้มที่จะมีที่มาจากวัฒนธรรมของกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าการให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในสังคมเดียวกัน เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน (Benedict 1979) อธิบายความคิดและวิถีปฏิบัติในลักษณะนี้ว่า การล่าเมืองขึ้นภายใน (internal colonialism) เป็นความสัมพันธ์ในรูปลักษณะเดียวกับการล่าอาณานิคมจากภายนอกที่มา
กระทำต่อคนท้องถิ่น หากแต่เป็นคนภายในที่มีกระทำต่อผู้อยู่ใต้ปกครองในสังคมเดียวกันเอง ไม่ใช่มาจากการกระทำของกลุ่มจักรวรรดินิยมจากภายนอกสังคม
วัฒนธรรมสัมพัทธ์
ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) (Bohannan 1988) เป็นนักมานุษยวิทยาที่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยภาคสนามเป็นอย่างยิ่ง ประสบการณ์จากการทำงานภาคสนามทำให้ โบแอสพิจารณาเห็นถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และได้หันมาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมแบบเป็นเส้นตรงที่เชื่อว่าวัฒนธรรมในทุกสังคมมีจุดก่อเกิดและวิวัฒน์ไปเป็นลำดับขั้นแบบเดียวกัน เขายัง
ปฏิเสธทัศนะเหยียดผิวและอคติเชิงชาติพันธุ์ของนักคิดในกลุ่มวัฒนธรรมวิวัฒนาการสายเดียว โบแอสกลับมองเห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและไม่เห็นด้วยที่จะใช้เกณฑ์มาตรฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากำหนดการให้คุณค่าว่าสูงกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มอื่น โบแอสให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยภาคสนามเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดของกลุ่มชนในแต่ละสังคมในทุกด้านเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาเปรียบเทียบ แนวคิดของโบแอส จึงได้ชื่อว่า
ประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี (historical particularism) เขาเชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ โบแอสยังปฎิเสธทัศนะที่เชื่อว่าวัฒนธรรมแพร่กระจายจากศูนย์กลางหลายๆแห่งไปยังบริเวณรอบๆ เขาพบว่ามนุษย์แต่ละกลุ่มรู้จักการประดิษฐ์สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มีคุณค่าในตัวเอง เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มตนเองมนุษย์รู้จักเลือกสรร ปรับตัว และไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบกันเสมอไป บรรดาลูกศิษย์ของโบแอส เช่น เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ (Edward Sapir), มาร์กาเร็ต มี๊ด (Margaret Mead), อัลเฟรดโครเบอร์ (Alfred Kroeber) และรู้ท เบเนดิคท์ (Ruth
Benedict) ต่างได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องวัฒนธรรมสัมพัทธ์ของโบแอส และนำเสนอข้อมูลสนามในหลายประเด็นที่เป็นการยืนยันความคิดทางวัฒนธรรมของอาจารย์โบแอส งานภาคสนามของโบแอสได้รับคำวิจารณ์ว่า มีรายละเอียดและหลากหลายหัวข้อมากเกินไปจนไม่มีประเด็น ไม่มีสาระสำคัญที่เป็นแก่นแกนของเรื่อง และไม่สนใจเรื่องการตีความข้อมูลทั้งโดยคนในที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้นๆและคนนอกที่เป็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปทำการเก็บรวบรวมข้อมูลสนาม
(Barfield 1997 :99, ยศ สันตสมบัติ 252540: 26- 27)
รู้ท เบเนดิคท์ ผู้เป็นลูกศิษย์ได้ขยายความคิดของอาจารย์โบแอส โดยเน้นการศึกษาภาพรวมหรือสัณฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า และภาพรวมทางวัฒนธรรมประจำชาติ เบเนดิคท์เห็นว่า เราไม่ควรมุ่งศึกษาเฉพาะการเก็บรวบรวมข้อมูลในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์โดยปราศจากการกำหนดประเด็นหรือสาระสำคัญ แต่ต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงองค์ประกอบเล็กๆทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อตีความและสรุปข้อมูลสร้างภาพในเชิงองค์รวมให้ได้ อย่างไรก็ดีการศึกษาทางวัฒนธรรมของเบเนดิคท์ได้รับคำวิจารณ์ว่า ค่อนข้างมองวัฒนธรรมในลักษณะที่หยุดนิ่ง ตายตัว แบบภาพเขียนที่งดงาม มากกว่าที่จะพิจารณาเห็นถึงพลวัตรความขัดแย้ง การลื่นไหล แปรเปลี่ยนภายในวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดทัศนะในเชิงอนุรักษ์มากกว่าการพิจารณาวัฒนธรรมในเชิงวิพากษ์ (Bohannan 1988)
วัฒนธรรมในแนวหน้าที่นิยม
วิชามานุษยวิทยาให้ความสนใจมาช้านานต่อธรรมชาติของโครงสร้างสังคม กับ ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคมกับปัจเจกชน แนวคิดของสเปนเซอร์ (Spencer) ให้ความสำคัญต่อโครงสร้างสังคมที่เขาเรียกว่า superorganic เขาเชื่อว่าโครงสร้างสังคมมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมรวมหมู่ของปัจเจกที่เป็นสมาชิกในสังคม เช่นเดียวกัน เดิร์กไฮม์(Durkheim) เน้นแนวคิดเรื่องอิทธิพลจากโครงสร้างสังคมต่อการกำหนดพฤติกรรมปัจเจก และยังให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมในการสร้างความสมานฉันท์ (social solidarity) ในหมู่สมาชิกสังคม (Haviland 1991)
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักคิดในสายทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม (structuralism-functionalism) เช่นแรดคลิฟฟ์ บราวน์ (Radcliff Brown) ได้รับอิทธิพลจากความคิดเรื่องโครงสร้างหน้าที่นิยม เขานำเสนอมุมมองทางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากวัฒนธรรมวิวัฒนาการสายเดียว โดยเขาเสนอว่า แต่ละกลุ่มชนต่างมีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนเองขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สร้างความเป็นปึกแผ่นในสังคมของตนเอง (Bohannan 1988) เช่น ในยุคขอมโบราณ ลัทธิเทวราชาถูกสร้างในวัฒนธรรมขอมเพื่อช่วยค้ำจุนความยิ่งใหญ่และพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในอัฟริกา ชนเผ่าเดมบู มีพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านเด็กสาว เด็กชายให้เป็นหญิงสาว ชายหนุ่ม และอีกหลายพิธีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน พิธีกรรมเหล่านี้ช่วยในการยอมรับการกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกในสังคมในสถานภาพใหม่ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างไปจากสมัยที่ยังเป็นเด็ก
ความสนใจของแรดคลิฟฟ์ บราวน์ อยู่ที่การศึกษาว่าสังคมมีโครงสร้างและหน้าที่อย่างไร หาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆที่ก่อรูปกันขึ้นเป็นโครงสร้างสังคมและดำรงอยู่ได้อย่างมีดุลยภาพ สังคมเปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์ที่มีอวัยวะต่างๆเป็นส่วนประกอบ ระบบ หรือ สถาบัน ที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างสังคมเหล่านี้ จะทำหน้าที่หนุนเสริมกันให้สังคมดำเนินไปได้อย่างมีดุลยภาพ เช่น ศาสนาและพิธีกรรมช่วยสร้างความรู้สึกร่วมเป็นพวกเดียวกัน และ
ควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม
มาลิเนาสกี้ (Malinowski 1954) เป็นนักมานุษยวิทยาในสายหน้าที่นิยมเช่นกัน แต่มีประเด็นที่แตกต่างไปจากแรดคลิฟฟ์ โดยเขาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตมนุษย์มากกว่าการมุ่งพิจารณาวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือค้ำจุนโครงสร้างสังคมเป็นหลักดังที่แรดคลิฟฟ์ บราวน์สนใจ
นักคิดในสายนี้ถูกวิจารณ์ว่าอธิบายหน้าที่ทางวัฒนธรรมเหมือนงูกินหาง มีคำตอบแบบครอบจักรวาล มากกว่าการที่จะพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นๆในแต่ละกรณีไป เป็นการวิเคราะห์ของนักมานุษยวิทยาที่นำเอาพฤติกรรมของมนุษย์ไปอธิบายทฤษฎี หรือเอาข้อมูลสนามมายืนยันทฤษฎีมากกว่าที่จะนำเอาทฤษฎีไปอธิบายข้อมูลสนาม นอกจากนี้แนวคิดนี้ยังละเลยการทำความเข้าใจความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสังคมเพราะมุ่งค้นหาแต่การทำหน้าที่ของวัฒนธรรมที่จะก่อให้เกิดดุลยภาพของสังคมเป็นด้านหลัก
วัฒนธรรมในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์
ความคิดของนักมานุษยวิทยาในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้ความสำคัญกับการพิจารณาวัฒนธรรมเชิงระบบสัญลักษณ์ หมายรวมถึง ศาสนา จริยธรรม ภาษา ศิลปะ และสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมของมนุษย์ นักคิดในสายนี้ให้ความสำคัญกับระบบความคิด ความเชื่อ และภูมิปัญญา และการตีความเป็นอย่างมาก ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานของ วิคเตอร์ เทอร์เนอร์ (Victor Turner) และ คลิฟฟอร์ด เกีร์ตซ์ (Clifford Geertz)
ตัวอย่างงานของวิคเตอร์ เทอร์เนอร์ (Bohannan 1988) เกี่ยวกับเรื่อง พิธีกรรมในการเปลี่ยนสถานภาพสมาชิกในสังคม (a rite of passage) สะท้อนให้เห็นว่า เขาสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับโครงสร้างสังคม โดยเสนอ ว่า พิธีกรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านสถานภาพของสมาชิกในสังคม เกิดขึ้นเสมอเพื่อเปลี่ยนสถานภาพของผู้คนจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมเมื่อวัยของผู้คนเปลี่ยนไปพิธีกรรมเพื่อเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน:
1. การแยกปัจเจกออกจากสถานภาพเดิมของเขา
2. ช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่สถานภาพใหม่
3. การเข้าสู่สถานภาพใหม่อย่างเต็มตัวของปัจเจก
เมื่อปัจเจกแต่ละคนกลายเป็นสมาชิกเต็มตัวในสถานภาพใหม่ที่เหมาะสมของเขา ในช่วงสุดท้ายของพิธีกรรมเพื่อเปลี่ยนผ่าน เขาจะซึมซับเอาความเป็นสมาชิกของชุมชน และแสดงออกอย่างเต็มที่ในการกระทำทางสังคมของเขา เขาจะได้เรียนรู้บทบาทในเชิงอุดมการณ์ต่อสถานภาพใหม่ที่เขาได้รับผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมในแต่ละขั้นตอนของพิธีกรรม
นักคิดที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ คลิฟฟอร์ด เกีร์ตซ์ (Clifford Greetz) (Bohannan 1988) ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาทางวัฒนธรรมที่เริ่มต้นจากการเอากรอบความคิดทางทฤษฎีมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำข้อมูลมาอธิบายตามทฤษฎีแทนที่จะพิจารณาสร้างทฤษฎีจากตรรกภายในของข้อมูลเอง รวมทั้งไม่เสนอวิธีการทำงานวิจัยภาคสนามที่ตายตัว อย่างไรก็ตามความคิดทางวิชาการที่เขามอบให้แก่วงการทางมานุษยวิทยากลายเป็นประเด็นพื้นฐานที่สำคัญและลุ่มลึกในการศึกษา
ทางวัฒนธรรม เกีร์ตซ์ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจวัฒนธรรมบนหลักการพื้นฐานจากตรรกภายในตัวของมันเองซึ่งถ้าหากจะทำเช่นนั้นได้ เราควรทำความเข้าใจความซับซ้อน ความลุ่มลึก หรือ สิ่งที่สังเกตเห็นได้ยากของชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของผู้คน เขาเห็นว่า งานศึกษาทางวัฒนธรรม อุปมาคล้ายดั่งงานขุดค้นทางโบราณคดี วัฒนธรรมมีชั้นซ้อนๆกันอยู่หลายชั้นเช่นกัน เราจะพิจารณาแต่เพียงปรากฏการณ์ผิวหน้าไม่ได้ ต้องค่อยๆขุดแซะจนพบความหมายที่ซ่อนลึกลงไป
ภายใน งานเขียนเรื่อง The Interpretations of Cultures ของเขา สะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ การเขียนถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชนใดก็ตาม ถือว่าเป็นความพยายามในการอธิบายแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมที่ควรจะตีความมาจากตรรกทางวัฒนธรรมของตัวเอง เขาปฏิเสธความคิดที่เสนอว่า การทำความเข้าใจวัฒนธรรมต้องวิเคราะห์ผ่านทฤษฎี มหภาค (grand theory) เขากลับเห็นว่า แนวทางการศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่ดีที่สุด และช่วยพัฒนาแนวคิดนี้ คือ การพิจารณาประเด็นปัญหาเฉพาะกรณีๆไป วิธีการแบบนี้จะทำให้แนวคิดวัฒนธรรมมีความละเอียดอ่อน ช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆให้เกิดขึ้นเสมอ และทำให้การศึกษาทางวัฒนธรรมมีชีวิตชีวา อย่างไรก็ตาม เกีร์ตเองก็ไม่ได้ปฏิเสธกรอบแนวคิดทฤษฎีมหภาคโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ในการตีความปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมให้เหมาะสม ไม่ยึดติดจนไม่สามารถพิจารณาเห็นถึงตรรกภายในหรือมุมมองใหม่ๆที่มาจากการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของข้อมูลสนาม ความคิดของเขาในเรื่องวัฒนธรรมไม่ได้กระจายเป็นเสี่ยงๆ หรือขัดแย้งกันเอง เขาเชื่อว่า คนเรามีชีวิตอุปมาคล้ายกับอยู่ในใยแมงมุมที่โยงใยเอาสาระสำคัญในชีวิตที่เราสร้างขึ้นเข้าไว้ด้วยกัน ผู้วิจัยต้องถอดรหัสเหล่านี้ให้ได้ เขาสนใจค้นหาความหมายเพื่ออธิบายแต่ไม่ใช่เพื่อการทดลองค้นหากฎสากล เขาเห็นว่า การตีความโดยอิงทัศนะคนในหรือผู้ให้ข้อมูลที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมประกอบกับการประมวลวิเคราะห์ภาพรวมโดยนักมานุษยวิทยา หรือ คนนอกที่เข้าไปทำการศึกษา คือเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการขุดค้นเพื่อหาความหมายหรือถอดรหัสวิธีคิด และพฤติกรรมของมนุษย์
เกีร์ตซ์ (Greetz 1973) เรียกงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตผู้คนทางสังคมวัฒนธรรม ว่าเป็น “thick description”หมายถึงการอธิบายอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุมของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสื่อความหมายมากกว่าหนึ่งประการ พฤติกรรมมนุษย์มีชั้นซ้อนๆ กันมากมายที่มีนัยยะสำคัญที่ต้องอาศัยการถอดรหัสความหมายจึงจะเข้าใจได้ ในทัศนะของเขา การค้นหาและอธิบายความหมายของพฤติกรรมมนุษย์ที่ซับซ้อนเป็นหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาใน
การศึกษาเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งในบางครั้งเรียกว่า นักชาติพันธุ์วรรณา (ethnographer)
นิเวศวิทยาวัฒนธรรม
นักคิดกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดวัฒนธรรมสายวิวัฒนาการ สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม นักคิดในสายนี้ เช่น จูเลียน สตวด (Julian Steward) (Bohannan 1988) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมมีการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมมีวิวัฒนาการได้หลายแบบขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมและระดับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของมนุษย์ในแต่ละแห่ง ในขณะเดียวกันเขาเสนอว่าไม่ควร
พิจารณาแยกประเด็นความต้องการที่จะตอบสนองสภาพร่างกายและจิตใจชองมนุษย์ออกจากปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม กล่าวได้ว่า อิทธิพลของสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง แต่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
สตวดเชื่อว่า มนุษย์ทุกแห่งมีภูมิปัญญา รู้จักใช้เหตุผลและเลือกสรรสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตของกลุ่มตนเองวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลในการปรับตัวและเลือกสรรของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป วัฒนธรรมในแต่ละแห่งจึงมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน ความต่างนี้เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ คนที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงกับคนพื้นราบต่างก็มีพัฒนาการในการใช้ชีวิตและประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป มีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมนุษย์อยู่ในระยะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต้น มนุษย์ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก วัฒนธรรมจึงถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมนุษย์พยายามคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้มากขึ้น อิทธิพลของสภาพแวดล้อม
ธรรมชาติต่อการกำหนดทางวัฒนธรรมก็จะลดลง หากแต่การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งจะยังดำเนินไปเนื่องจากเป็นประสบการณ์ร่วม แม้รูปแบบเนื้อหาสาระบางอย่างจะแปรเปลี่ยนไปบ้าง (ยศ สันตสมบัติ252540:34-35)
วัฒนธรรมเชิงวิพากษ์
ประมาณกลางคริสต์ทศวรรษที่ 20 นักคิดทางสังคมร่วมสมัยหลายท่านได้พิจารณานิยามความหมายของวัฒนธรรมในเชิงวิพากษ์ ที่มีลักษณะแตกต่างอกไปอย่างมากกับกลุ่มที่นำเสนอมาข้างต้น พวกเขาปฏิเสธชุดความคิดในเรื่องที่เชื่อว่า วัฒนธรรมเป็นเอกภาพ และมีความเป็นกลางสำหรับทุกคน พวกเขาพิจารณาเห็นว่า วัฒนธรรมกับอำนาจเป็นของคู่กัน ในทุกสังคมประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลายทางชีวิตวัฒนธรรม เช่น แตกต่างกันในด้าน เพศ ชนชั้น
วัย การศึกษา ชาติพันธุ์ การนับถือศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม จารีต ศิลปะ การที่วัฒนธรรมของกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นกระแสหลักในสังคมย่อมที่จะต้องมีประเด็นผูกพันเชื่อมโยงกับอำนาจในสังคมนั้นๆ
วัฒนธรรมกับอำนาจ (Culture and Power)
การศึกษาเรื่องวัฒนธรรมกับอำนาจนั้นนับได้ว่า ปิแอร์ บูร์ดิเยอ เป็นนักคิดร่วมสมัยจากสำนักปรัชญาค่ายฝรั่งเศส มีผลงานเป็นที่อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายมากในแวดวงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา หัวใจของคำถามทางสังคมวิทยาของบูร์ดิเยอ คือ ทำไมความไม่เสมอภาคในสังคมจึงยังดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการต่อต้านจากผู้ถูกกดขี่ แล้วเขาก็ค้นพบว่าอยู่ที่ทรัพยากรทางวัฒนธรรม (cultural resources) การปฏิบัติการ (practices) และสถาบัน (institutions)
ร่วมกันทำหน้าที่รักษาและสืบทอดความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เสมอภาคนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสมาชิกสังคมไม่ตระหนักรู้ถึงสภาวะทางวัฒนธรรมเช่นนั้น
บูร์ดิเยอสนใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับอำนาจมากเป็นพิเศษ การวิเคราะห์ของบูร์ดิเยอทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมทำให้อำนาจความสัมพันธ์ทางชนชั้นในสังคมดูคลุมเครือได้อย่างไรและการวิเคราะห์ของเขาได้กลายเป็นเครื่องมือในการศึกษาวัฒนธรรมที่สำคัญของวงวิชาการทางสังคมวิทยาร่วมสมัย กล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมและอำนาจที่บูร์ดิเยอนำเสนอเป็นการช่วยขยายประเด็นเรื่องอุดมการณ์และจิตสำนึกที่ผิดพลาดทางชนชั้นของแนวคิดมาร์กซิสม์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และถือว่าเขาเป็นผู้มีคุณูปการสำคัญแก่วงวิชาการทางสังคมวิทยาในการศึกษาเรื่องชนชั้นและอำนาจในสังคมทันสมัยอย่างมาก
งานวิชาการของปิแอร์ บูร์ดิเยอ เสนอแนวคิดเรื่องอำนาจในเชิงสัญลักษณ์ (symbolic power) และความรุนแรง(violence) แนวคิดนี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างวัฒนธรรม กับ อำนาจ ที่ปรากฏในแบบแผนการแทรกแซงทางการเมือง (a mode of political intervention) อย่างแยบคายลึกซึ้ง ในโลกสมัยใหม่ของสังคมทุนนิยมก้าวหน้าการศึกษาและตลาดทางวัฒนธรรมได้ขยายตัวออกอย่างกว้างขวาง และได้ส่งเสริมการใช้อำนาจผ่านกลไกทางวัฒนธรรมเพื่อครอบงำและควบคุมพลเมืองของตนเอง กลไกวัฒนธรรมแห่งอำนาจเหล่านี้ดูซับซ้อน ลุ่มลึก และคลุมเครือ ยากที่จะเข้าใจได้โดยง่ายหากพิจารณาแต่เพียงภาพผิวหน้า บูร์ดิเยอแสดงให้เห็นถึงที่มาของอำนาจในการควบคุมและทำลายล้างมนุษย์นั้นแทรกตัวอยู่ในภาคปฏิบัติการของสถาบันต่างๆในสังคม และบางครั้งจะเผยโฉมในลักษณะที่ดูดี ไม่เป็นอันตรายมีลักษณะก้าวหน้า และดูเหมือนว่าจะไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับกลไกอำนาจรัฐ บูร์ดิเยอให้ความสนใจกับการปฏิบัติการอย่างแฝงเร้นของอำนาจที่ปรากฏในกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งถ้าหากพิจารณาเพียงภายนอกอย่างผิวเผินจะเห็นว่าปฏิบัติการนั้นไม่แสดงอำนาจในการครอบงำและควบคุม แต่ภายใต้ปรากฏการณ์ภาพผิวหน้า ลึกลงไปคือการครอบงำและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง เนื่องจากเหยื่อไม่รู้ตัวหรือถูกทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งดีโดยไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ซ่อนลึกลงไป นี่คือการกระทำความรุนแรงต่อมนุษย์อย่างลุ่มลึก บูร์ดิเยอเรียกสิ่งนี้ว่า อำนาจในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งแตกต่างไปจากการใช้อำนาจที่ชัดเจนและเปิดเผยของตัวแทนอำนาจที่มีตำแหน่งในสถาบันในสังคมทั่วๆไป(Harker 1990, Bourdieu 1991, Bourdieu in Swartz 1997) บูร์ดิเยอสร้างแนวคิดนี้โดยการสังเคราะห์เชื่อมโยงทฤษฎีปฏิบัติการของเขา (Theory of practices) ผสมผสานกับอำนาจในเชิงสัญลักษณ์จากแนวคิดของเดิร์กไฮม์ (Durkheim),มาร์กซ์ (Marx), และเวเบอร์ (Weber) รวมทั้งได้รับอิทธิพลความคิดจากซาตร์ (Satre), เลวี่ สโทรส (Levi Strauss) และอัลธูแซร์(Althusser) (Bourdieu in Swartz 1997)
ทฤษฎีปฏิบัติการของบูร์ดิเยอใน Outline of a Theory of Practice (1990) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1978 เป็นงานวิชาการที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาก ความคิดของเขาเป็นการเชื่อมโยงผสมผสานระหว่างโครงสร้างที่เป็นเงื่อนไขทางภววิสัย (objectivism) กับอัตวิสัย (subjectivism) ของมนุษย์ผู้กระทำการ โดยการอธิบายความสัมพันธ์ของโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์ของการปฏิบัติทางสังคมที่ปรากฏอยู่ในสังคม และมนุษย์ผู้กระทำการที่มีความคิด มีเหตุผล และมีอิสระในการตัดสินใจกระทำการในระดับของประสบการณ์ที่แสดงออกในวิถีชีวิตประจำวัน บูร์ดิ
เยอเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจการปฏิบัติการในทั้งสองระดับ คือ โครงสร้างและมนุษย์ผู้กระทำการ (ทั้งระดับปัจเจกและกลุ่ม) เขารับอิทธิพลของเดิร์กไฮม์ที่เชื่อว่าระบบโครงสร้างสังคมมีพลังอำนาจในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ และรับอิทธิพลมาร์กซิสม์ที่เชื่อว่าอุดมการณ์ค่านิยมที่เป็นกระแสหลักก็ถูกกำกับด้วยความคิดนำและกลไกอำนาจของชนชั้นผู้ปกครอง ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญว่าระบบมาจากไหน ถูกสร้างและผลิตซ้ำได้อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และจะพัฒนาไปอย่างไร การตีแผ่ให้เห็นธาตุแท้ของอำนาจครอบงำที่มากับการทำงานของระบบสังคมโดยเฉพาะสถาบันต่างๆในระบบจึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของนักวิชาการ และการจะเข้าใจการทำงานของกลไกอำนาจที่อยู่ในระบบจำเป็นที่จะต้องพิจารณาจากความคิดและประสบการณ์ของมนุษย์ (ปัจเจกและกลุ่ม) ผู้กระทำการที่อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นด้วย
บูร์ดิเยอยังรับอิทธิพลของทฤษฎีมาร์กซิสม์ในเรื่องการผลิตซ้ำทั้งในเชิงวัตถุและเชิงสัญลักษณ์เพื่อการปฏิบัติการครอบงำทางอุดมการณ์ เขาเสนอมุมมอง เรื่อง ฮาบิทัส (habitus) เพื่อเป็นกรอบในการอธิบายการกระทำของผู้คนในสังคม เขาเห็นว่ามนุษย์ผู้กระทำการทุกคนมียุทธศาสตร์ (strategy) ของตนเองในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ ยุทธศาสตร์ของแต่ละคนก็ปะทะหรือประสานกันเองในการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างไรก็ตาม เขาเห็น
ว่าการกระทำของผู้คนไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตายตัวจากระบบสังคมแต่ก็ไม่ได้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงตามเจตจำนงของมนุษย์ผู้กระทำการ หากแต่มีกฎเกณฑ์ของสังคมบางประการกำกับอยู่ด้วย ซึ่งบูร์ดิเยอเรียกกรอบที่กำหนดการกระทำทางสังคมทั้งสองระดับนี้ว่า ฮาบิทัส
ฮาบิทัส หมายถึงกรอบแนวทางที่เป็นตัวกำหนด ข้อเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ หรือชี้แนะการตัดสินใจให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่น่าจะเหมาะสม มีเหตุผลให้กับผู้คนตัดสินใจเลือกกระทำการภายใต้สภาวการณ์หนึ่งๆ ฮาบิทัสจึงมีทั้งส่วนที่เน้นความเป็นเอกภาพ ระเบียบของการปฏิบัติที่โครงสร้างสังคมกำหนดมาในแต่ละสถานการณ์ อีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อจำกัดความตายตัวของโครงสร้างสังคม เนื่องจากเปิดโอกาสให้เลือกได้มากกว่าทางเดียว ฮาบิทัสจึงเป็นเสมือนโครงสร้างที่อยู่ทั้งภายนอก (social structure) และอยู่ภายในตัวปัจเจก (internalization) ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมจากครอบครัว กลุ่มทางสังคม และชนชั้น ฮาบิทัสเป็นสิ่งที่อยู่ในระดับจิตสำนึกและภาษาของเรา เป็นส่วนที่มีความลื่นไหลเนื่องจากไม่ถูกควบคุมอย่างสิ้นเชิงโดยโครงสร้างสังคมหรือเจตจำนงอิสระของมนุษย์ผู้กระทำการ
ดังนั้นการปฏิบัติจึงเป็นการแสดงออกในสิ่งที่สังคมกำหนดตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผน ความรู้ต่างๆ และส่งผ่านไปยังการปฏิบัติของยุทธศาสตร์ต่างๆ ฮาบิทัสจึงเป็นการผลิตของการปฏิบัติที่มีแนวโน้มในการผลิตซ้ำของกฎเกณฑ์ แบบแผนที่สังคมกำหนดมาภายใต้เงื่อนไขภาวะวิสัยของระเบียบสังคมโดยทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ถูกต่อรองปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการเลือก ตัดสินใจของมนุษย์ผู้กระทำการในทางสังคม มนุษย์จึงเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ผลิตซ้ำความหมายและการกระทำทางสังคม และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ถูกสร้างหรือผู้ถูกกระทำโดยกลไกเชิงอำนาจจากระบบสังคมที่ปรากฏในสถาบันหลักต่างๆเช่นกัน
เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Said 1979) เขียนหนังสือ Orientalism ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1978 นับว่าเป็นผลงานหนังสือเล่มที่โดดเด่นเลื่องชื่อของเขาซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ ซาอิดมองว่าภาพลักษณ์ของความเป็นตะวันออกเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมของตะวันตกในการสร้างระบบการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าความรู้และความจริงเกี่ยวกับตะวันออกโดยผ่านการเขียน การศึกษา และการถ่ายทอดด้วยสื่อประเภทต่างๆที่มีวิธีคิดและอุดมการณ์ของตะวันตกเป็นอคติกำกับ ระบบการนำเสนอความเป็นตะวันออกถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมืองของตะวันตกที่ทำให้ตะวันออกกลายเป็นวัตถุของการเรียนรู้ บนพื้นฐานสำนึกและวิธีคิดแบบตะวันตกซึ่งช่วยเสริมอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกในการแผ่ขยายอำนาจครอบงำตะวันออก งานเขียนของซาอิดมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานแนวทางการศึกษาแบบที่เรียกว่าหลังสมัยอาณานิคมศึกษา (Postcolonial studies) ซึ่งสนใจปฏิสัมพันธ์ทุกด้านระหว่างกลุ่มประเทศเมืองแม่ที่เป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เช่น ยุโรปและตะวันตก กับกลุ่มประเทศทางตะวันออกที่เคยเป็นอาณานิคมของเมืองแม่ รวมทั้งวรรณกรรมและการวิจารณ์ของยุคหลังสมัยอาณานิคม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการแฝงตัวของจักรวรรดินิยมในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม (ธีระ นุชเปี่ยม2544)
ความสนใจหลักของซาอิดอยู่ที่การวิพากษ์ความรู้และภูมิปัญญาตะวันตกเกี่ยวกับตะวันออก โดยเน้นตะวันออกใกล้และโลกอิสลามเป็นหลัก ข้อเขียนของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้ง อคติและอำนาจการครอบงำทางวัฒนธรรมตะวันออกโดยความรู้และภูมิปัญญาตะวันตก เขาเห็นว่า ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นความขัดแย้งในระดับโลก การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม หรือเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้อื่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันและน่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีอคติและอำนาจการครอบงำทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
นอกจากนั้น การศึกษาวัฒนธรรมในยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ยังปรากฏใน 2 สำนักคิดที่มีผลงานเป็นที่แพร่หลายในแวดวงผู้สนใจด้านวัฒนธรรมศึกษาในแนววิพากษ์ (critical cultural studies) คือ ทฤษฎีวิพากษ์ของสำนักแฟรงค์เฟริต(Critical Theory of the Frankfurt School) และ
วัฒนธรรมศึกษาของสำนักเบอร์มิงแฮม (Birmingham School ofCultural Studies)
วัฒนธรรมเชิงอำนาจในทัศนะของนักคิดสำนักแฟรงค์เฟริต (The Frankfurt School of Thought)บทความเรื่อง Critical Theory and Crisis of Social Theory เสนอโดย เคลเนอร์ (Kellner 1988) สะท้อนให้เห็นว่า เกิดวิกฤติทางทฤษฎีสังคมวิทยาในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของการเข้าถึงความรู้ ความจริงของแนวคิด ทฤษฎีและระเบียบวิธีการที่เป็นกระแสหลักทางสังคมวิทยา ได้แก่ การเน้นระเบียบวิธีการเชิงปริมาณ การให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และปรัชญาแนวปฏิฐานนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นหลักในกระบวนการวิจัยที่จะนำไปสู่การเข้าถึงความจริง
คำถามและข้อสงสัยต่อความไม่น่าเชื่อถือของปรัชญาความคิดและระเบียบวิธีดังกล่าวนำไปสู่วิกฤติทางทฤษฎีสังคมขนานใหญ่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทรรศน์ (paradigm shift) ในการวิจัยทั้งด้านปรัชญาความคิดและระเบียบวิธี รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกและวิธีการใหม่ๆในการศึกษาปรากฏการณ์สังคม นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา กระบวนทรรศน์และวิธีการใหม่ๆที่มีลักษณะวิพากษ์มากขึ้นได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากปรัชญาปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) ระเบียบวิธีการศึกษาที่เน้นการทำความเข้าใจระบบความรู้และการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระบบความรู้ของกลุ่มชนในสังคมผ่านการตีความของพวกเขาเป็นด้านหลัก เป็นแนวคิดและวิธีการที่ใช้กันมากในการศึกษากลุ่มชนของนักมานุษยวิทยา เรียกกันว่า Ethno-methodology, โครงสร้างนิยม (Structuralism), ทฤษฎีมาร์กซิสม์ (Marxism), และสตรีนิยม (Feminism) (Kellner 1988, Honneth 1997)
การเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทรรศน์ในการอธิบายความจริงทางสังคมเป็นที่มาของการก่อกำเนิดกลุ่มทฤษฎีแนววิพากษ์ในการศึกษาสังคม เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 ในประเทศเยอรมัน นักคิดแนววิพากษ์จำนวนหนึ่งได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยสังคมที่เมืองแฟรงค์เฟริตเพื่อศึกษาสังคมและการเปลี่ยนแปลง
กระบวนทรรศน์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการอย่างมากถึงธรรมชาติ วิธีการและเป้าหมายของกลุ่มทฤษฎีแนววิพากษ์ ต่อมานักคิดในสายหลัง (หรือต่อต้าน) โครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) และ แนวหลัง(หรือต่อต้าน) ทันสมัยนิยม (Post-Modernism)ได้สร้างกระแสทางวิชาการขึ้นมาท้าทายและวิพากษ์ทฤษฎีมหภาคที่เป็นกระแสหลักทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและศาสตร์ต่างๆ ทฤษฎีและศาสตร์ต่างๆมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญายุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) หรือทันสมัยนิยม (Modernism) ในยุโรปที่เน้นปรัชญาเชิง ปฏิฐานนิยม การสร้างเหตุผล ความเป็นกลาง ปราศจากอคติ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักในการเข้าถึง หรือ สร้างความรู้ ความจริง
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มนักคิดสายหลังโครงสร้างนิยมและหลังทันสมัยนิยมบางส่วนยังได้วิจารณ์ทฤษฎีมาร์กซิสม์ทฤษฎีโครงสร้างนิยม และปรากฏการณ์นิยม รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีเชิงวิพากษ์ของสำนักแฟรงค์เฟริทว่ายังอิงอยู่กับกรอบการคิดข้อสมมุติฐานและวิธีการเดิมๆตามประเพณีนิยมของทฤษฎีสังคมในยุคทันสมัยนิยม (Kellner 1988, 1988b) ข้อถกเถียงทางวิชาการมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนแนวทฤษฎีวิพากษ์ และแนวที่เกิดมาตามหลัง คือ แนวคิดหลังทันสมัยนิยม ซึ่งทั้ง
2 ค่ายก็มีทั้งจุดร่วมและจุดต่างในทางความคิด
เคลเนอร์ (Kellner 1988) เสนอว่า แนวทฤษฎีเชิงวิพากษ์ที่มีฐานมาจากทฤษฎีมาร์กซิสม์ (Marxism) มีศักยภาพพอที่จะเป็นประโยชน์และเป็นข้อเสนอทางวิชาการที่ให้ทางเลือกในทางการเมืองได้มากกว่าแนววิพากษ์ของกลุ่มแนวคิดหลังทันสมัยนิยมและแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม โดยแนวทฤษฎีวิพากษ์เป็นการศึกษาเพื่อให้บรรลุการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากการกดขี่ทุกรูปแบบไปสู่เสรีภาพ เสมอภาค และความสุข รวมทั้งมุ่งหวังที่จะไปสู่สังคมที่มีการใช้เหตุผลเป็นตัว
กำกับ แนวทฤษฎีกลุ่มนี้ยังมุ่งเน้นการเชื่อมโยงการวิเคราะห์เชิงประจักษ์ของโลกปัจจุบันกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ประวัติความเป็นมาของแนวทฤษฎีวิพากษ์มักได้รับการอธิบายเชื่อมโยงกับการก่อกำเนิดของสำนักแฟรงค์เฟริตซึ่งหมายถึงผลงานกลุ่มนักคิดที่เป็นสมาชิกของสถาบันวิจัยสังคม Institute fur Sozialforschung (Institute for SocialResearch) ที่เมืองแฟรงค์เฟริต ประเทศเยอรมัน สถาบันนี้เริ่มตั้งขึ้นในราวทศวรรษที่ 1920 ภายใต้การนำของ คาร์ล กรุนเบอร์ก (Carl Grunberg) เป็นสถาบันที่เริ่มต้นด้วยการอิงกรอบคิดทางทฤษฎีมาร์กซิสม์เป็นหลักในการทำวิจัยและทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศเยอรมัน ประเด็นการศึกษาที่สนใจมักเป็นการเชื่อมโยงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิง
ประจักษ์ ประวัติศาสตร์ กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรป รวมทั้งการผลิตงานทางทฤษฎีสังคมของนักวิจัยสถาบันออกเผยแพร่
ลักษณะสำคัญของแนวทฤษฎีวิพากษ์ของสำนักแฟรงค์เฟริต คือ ชี้ให้เห็นรากเหง้าความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อการสร้างความรู้ และความจริงต่างๆ นักคิดทั้งหลายก็เป็นผลผลิตจากสังคมวัฒนธรรมที่เขามีชีวิตอยู่ด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการสะท้อนความคิดและตัวตนของนักคิดนักเขียน (self-reflexivity) องค์ความรู้ทั้งหลายไม่มีสถานะของความเป็นกลางเพราะเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งชนชั้นทางสังคม
แนววิพากษ์ของสำนักนี้ปฏิเสธการเข้าถึงความจริงตามปรัชญาแนวปฏิฐานนิยม (positivism) อภิปรัชญาของความรู้ ความจริงอันสัมบูรณ์ (metaphysical absolutism) และตรรกเชิงนิรนัย (reductionism) โดยไม่มีบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจการเมืองเป็นตัวกำกับ นักคิดสำนักวิพากษ์กลับเสนอให้มีการใช้มุมมองทางทฤษฎีอันหลากหลายในลักษณะที่เป็นบูรณาการจากหลายสาขาวิชา เช่น ปรัชญา แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง จิตวิเคราะห์จิตวิทยาสังคม ทฤษฎีวัฒนธรรม มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และประวัติศาสตร์ เพื่อจะพิจารณาปรากฏการณ์สังคมได้รอบด้านและครอบคลุมมากกว่าการตีความตามกรอบคิดของสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเฉพาะทาง (Honneth 1997)
คำว่า "ทฤษฎีวิพากษ์ " เกิดขึ้นในปี 1937 ภายหลังจากที่สมาชิกของสถาบันวิจัยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวยิวต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อฮิตเลอร์ได้รับชัยชนะและขึ้นมามีอำนาจในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทฤษฎีวิพากษ์ตามสำนักนี้มีความหมายถึงการสร้างทฤษฎีสังคมที่มีลักษณะที่ไม่นำไปสู่การผลิตซ้ำด้านปรัชญาความคิดในการอธิบายสังคมในลักษณะที่ช่วยค้ำจุนโครงสร้างอำนาจหลักทางเศรษฐกิจและการเมืองในระบบทุนนิยม รวมทั้งมีเนื้อหาทางทฤษฎีที่มีเป้าหมายในทางปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สำนักแฟรงค์เฟริตเชื่อในการบูรณาการศาสตร์ต่างๆในการอธิบายสังคม โดยมีรากฐานอยู่ที่ทฤษฎีมาร์กซิสม์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับวิภาษวิธีของเฮเกลและมาร์กซ์ (Hegelian-Marxian dialectics), วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical materialism), แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบมาร์กซิสม์ (the Marxian critique of political economy) และทฤษฎีการปฏิวัติ (Theory of revolution)
ทฤษฎีวิพากษ์ให้ความสำคัญกับทฤษฎีมาร์กซิสม์ทั้งนี้เพราะไม่เพียงแต่จะให้อรรถาธิบายระบบทุนอย่างลึกซึ้งหากแต่ยังให้ภาพความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้อย่างละเอียดอีกด้วย ชีวิตมนุษย์ถูกควบคุมโดยสินค้าและการแลกเปลี่ยนที่สะท้อนความสัมพันธ์และมูลค่า ทฤษฎีสังคมที่สำนักนี้เสนอมีแนวโน้มที่จะอธิบายว่าสังคมทุนนิยมได้ก่อให้เกิดโครงสร้างที่ตายตัวและทรงประสิทธิภาพมีอำนาจในการครอบงำและแปลงสภาพความเป็นมนุษย์ให้เป็นเสมือนวัตถุประเภทหนึ่ง ด้วยความสามารถในการครอบงำที่แยบยลทำให้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมชาติในระบบทุนนิยมกลายมาเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปตามครรลองของชีวิตมนุษย์ เช่น กระบวนการกลายเป็นแรงงานและภาวะแปลกแยก การกลายเป็นสินค้า การให้บริการ การกลายเป็นเสมือนวัตถุ และแบบแผนวิธีคิดใหม่ๆที่ส่งเสริมโดยสื่อมวลชน รวมทั้งการใช้ศาสตร์และปรัชญาเชิงปฏิฐานนิยม สิ่งที่เป็นธรรมชาติเหล่านี้ได้พัฒนากลายมาเป็นระบบที่ควบคุมหรือแทรกแซงชีวิตมนุษย์ นี่คืออำนาจอันทรงพลังของระบบทุนนิยมในการควบคุมมนุษย์
ในบทความเรื่อง "Traditional and Critical Theory" โดย ฮอร์กไฮมเมอร์ นับว่าเป็นบทความที่เป็นระบบและครอบคลุมถึงความคิดทางทฤษฎีสังคมที่เสนอในนามสถาบันวิจัย ในบทความนี้ เขาย้ำถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎีวิพากษ์กับทฤษฎีสังคมตามขนบประเพณีของศาสตร์ทางสังคมวิทยาว่า กลุ่มทฤษฎีสังคมตามขนบประเพณีมักมีลักษณะลดทอน ย่อส่วน (deductive) และถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ เป้าหมายของทฤษฎีเหล่านี้อยู่ที่การวิเคราะห์สังคมให้เป็นแบบร่วมมือ ปรองดอง กลมเกลียว สมานฉันท์ (unity and harmony) ปราศจากความขัดแย้ง และมีแนวโน้มที่ชอบสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical models) มาอธิบายปรากฏการณ์สังคม (Horkheimer 1972:190)
ฮอร์กไฮมเมอร์ เสนอว่า ทฤษฎีสังคมตามขนบประเพณีนั้นเป็นภาพสะท้อนอุดมคติของกลุ่มนายทุนที่เชื่อในเรื่องตลาดเสรี วาดหวังอยากเห็นความปรองดองในระบบตลาดทุนนิยมที่ดำเนินการไปภายใต้กติกาการตลาดที่เชื่อว่ายุติธรรมแก่ทุกฝ่าย มีเสรีภาพ โดยมีอุปทานและอุปสงค์เป็นตัวกำกับ ในทางกลับกัน ทฤษฎีวิพากษ์กำลังสะท้อนความคิด จุดยืนทางทฤษฎี และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ในชีวิตจริงที่เชื่อมโยงกับกระบวนการทางสังคม กล่าวโดย
ปริยาย ฮอร์กไฮมเมอร์ กำลังวิจารณ์ว่า ทฤษฎีตามขนบประเพณีนั้นไม่มีลักษณะวิพากษ์ แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการทางสังคม (social practices) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจรรโลงระบบทุนนิยมและสังคมนายทุนแนวโน้มของทฤษฎีสังคมตามขนบประเพณีจึงขาดลักษณะวิพากษ์กระบวนการทางสังคม กลับมุ่งค้ำจุนหรือผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิมในสังคม ในขณะที่ทฤษฎีวิพากษ์มุ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมโดยมีเป้าหมายที่ผู้ยากไร้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบภายใต้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม
"วิพากษ์" ในที่นี้จึงหมายถึงการวิจารณ์สภาพการกดขี่ (oppression) การขูดรีด (exploitation) และการแสวงหาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น นอกจากนั้นแนวทฤษฎีวิพากษ์ก็มีความเห็นแตกต่างจากมาร์กซิสม์คลาสิกที่เป็นกลไกวัตถุนิยมเกินไปในข้อเสนอที่ว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรม การเมือง และกฎหมาย (economicdeterminism) และปฏิเสธข้อเสนอที่ตัดทอนทุกอย่างลงไปสู่จิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพ (proletarian classconsciousness) และการครอบงำในนามพรรคคอมมูนิสต์เท่านั้น ฮอร์กไฮมเมอร์ เห็นว่า ชนชั้นกรรมาชีพในปัจจุบันนี้ยังมีการศึกษาน้อย และถูกครอบงำจากอุดมการณ์ในระบบทุนนิยมมาก พวกเขามีจิตสำนึกที่หลากหลายและแตกแยกเป็นเศษเสี้ยว พวกเขาตกเป็นเหยื่อของนโยบายพัฒนา นโยบายปฏิรูป และนโยบายอนุรักษ์ต่างๆของรัฐบาลนายทุน ทำให้มองไม่เห็นอันตรายจากระบบทุนนิยม แม้ว่าจะถูกกดขี่ขูดรีดภายใต้ระบบนี้ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่า จิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องถูกต้องในทางทฤษฎีสังคมหรือมีลักษณะปฎิวัติสังคม
นักคิดสำนักนี้ได้ช่วยพัฒนาทฤษฎีมาร์กซิสม์ต่อไป โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างส่วนบนมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอของนักคิดสำนักนี้แตกต่างอย่างมากจากกรัมชี่ และฟูโกต์ ในขณะที่กรัมชี่และฟูโกต์มองอำนาจและวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นพลวัต เป็นพื้นที่ของการต่อสู้แย่งชิงการนำในสังคมอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด รวมทั้งอำนาจไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ศูนย์กลางเท่านั้นแต่กระจายไปทุกที่ นักคิดสำนักแฟรงค์เฟริตกลับพิจารณาเรื่องอำนาจในลักษณะที่เป็นด้านมืด
อดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์ผู้เป็นนักคิดรุ่นสองของสถาบันวิจัยสังคมและเป็นผู้นำในการเสนอความคิดเรื่อง การสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry) หรือการทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าที่ผลิตได้ครั้งละมากๆ มีราคาถูกมีผลทำให้คุณค่าด้านสุนทรียะและความงอกงามทางปัญญาตกต่ำลง ผู้เสพส่วนใหญ่เป็นคนฐานะยากจนหรือพอกินพอใช้ก็ยิ่งทำให้ตกอยู่ในวังวนของปรัชญาความคิดที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมสินค้ามวลชนเหล่านี้
อดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์เริ่มจากความสนใจว่าเป็นเพราะเหตุใดชนชั้นผู้ปกครองแบบฮิตเลอร์และพรรคชาตินิยมสามารถมีอำนาจครอบงำจิตใจประชาชนโดยเฉพาะกรรมกร คนจน ส่วนมากในประเทศเยอรมันได้เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีแนวนโยบายและจุดยืนเพื่อกรรมกรผู้ยากไร้มากกว่า คำตอบของอดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์ คือ การสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชนชั้นผู้ปกครองใช้ในการครอบงำประชาชนให้กลายเป็นปัจเจกผู้นิยมการเสพทางวัฒนธรรมที่ถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีลักษณะคล้ายๆกันในระบบทุนนิยม (mass-culture consuming subjects) พร้อมๆกับพัฒนาการของระบบทุนนิยม อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้รุกคืบเข้ามาครอบงำวิธีคิดและแบบแผนทางพฤติกรรมของผู้คนในสังคมในลักษณะที่ผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งหลายของระบบทุนนิยมถูกครอบงำอย่างแนบเนียนจนไม่เกิดการตั้งคำถาม หรือ การคิดเชิงวิเคราะห์ วิพากษ์ และไม่ตระหนักถึงอำนาจ
ที่มากับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
ทั้งอดอร์โน และ ฮอร์กไฮมเมอร์ เห็นว่าการก่อเกิดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในระบบทุนนิยมได้แยก"วัฒนธรรม" ออกจากคุณค่า "สุนทรียะ" ของงานศิลปะโดยสิ้นเชิง มนุษย์ในยุคทุนนิยมสมัยปัจจุบันตกเป็นเหยื่อภายใต้อุตสาหกรรมของการสร้างวัฒนธรรม (culture industry) ในระบบทุนนิยมอย่างมาก วัฒนธรรมวิถีประชา (popularculture) เองแทนที่จะเป็นเวทีต่อรอง ต่อต้าน ตอบโต้ กลับช่วยผลิตซ้ำ ซึ่งเท่ากับว่าช่วยตอกย้ำวิธีคิดและความชอบธรรม
ของระบบทุนนิยม
ดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะภายใต้อุตสาหกรรมของการสร้างวัฒนธรรมล้วนแล้วแต่มีลักษณะแบบเดียวกัน เช่นแนวเพลง สไตล์ เนื้อหาภาพยนตร์ ต่างมุ่งเน้นสาระที่ให้ความเพลิดเพลิน ความสนุก ความชวนหัว ความสบาย มากกว่าการตั้งคำถามกับระบบที่เป็นอยู่ และสื่อมวลชนยังทำหน้าที่หล่อหลอมให้ผู้เสพวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ในบริบทของวิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตแบบเดียวกัน ภายใต้ระบบทุนนิยม เช่น บริโภคนิยมด้านแฟชั่น ความงาม และสุนทรียะต่างๆ
ภายใต้อุตสาหกรรมของการสร้างวัฒนธรรม มนุษย์ได้สูญเสียเสรีภาพอันแท้จริงในการผลิตและการบริโภคงานศิลปะ เนื่องจากถูกกำหนดด้วยระบบกำไร ขาดทุนของระบบตลาดทุนนิยม การผลิตและการบริโภคจึงต้องเป็นไปตามกลไกแห่งตลาด วัฒนธรรมในสมัยทุนนิยมปัจจุบันจึงขาดลักษณะของการวิพากษ์ ไม่ชี้นำผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่านให้ชวนสงสัยตั้งคำถาม เป็นวัฒนธรรมที่จะตรึงผู้คนให้จำนนและจำยอมต่อระบบสังคม ที่เป็นอยู่มากกว่าการเป็นพลังปฏิวัติ มวลชนในทัศนะของอดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์จึงไร้พลัง ขาดจิตสำนึกในการวิพากษ์สังคม เนื่องจากถูกครอบงำด้วยอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Adonor and Horkheimer 1995)
เจอร์เก่น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) เป็นสมาชิกรุ่นที่สามของสถาบันวิจัย เขาเป็นศิษย์ของอดอร์โน เขามีความคิดเห็นร่วมกับอดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์ที่เชื่อว่ารัฐตกอยู่ภายใต้พลังของระบบตลาด มวลชนตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐและระบบตลาด แทบจะปราศจากอำนาจที่จะต่อต้านสื่อมวลชนสมัยใหม่ สื่อโฆษณา และการเมือง ระบบโครงสร้างอำนาจรัฐและตลาดที่ครอบงำชีวิตมวลชนมากขึ้นทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ (private and public life) ที่ฮาเบอร์มาสเรียกว่า lifeworld ซึ่งครอบคลุมถึงระบบค่านิยมที่ปรากฏในงานศิลปะ ศาสนา การศึกษา ครอบครัว เข้าไว้ด้วย จนกลายเป็นความเข้าใจร่วมกันทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากการปฏิบัติการของการสื่อสาร (communicativeaction) ซึ่งหมายรวมถึงการที่ปัจเจกและกลุ่มในสังคมใช้การสื่อสารแสดงเหตุผลอภิปรายและถกเถียงกันไปมาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมในเรื่องความหมาย คุณค่า และค่านิยมในการดำเนินชีวิต เป็นการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจร่วมโดยใช้หลักเหตุผล จนก่อให้เกิดภาคปฏิบัติการที่เป็นผลจากความเข้าใจร่วมนั้นๆในปริมณฑลที่เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว คือมีผลในการสร้างบุคลิกภาพ ทัศนะและพฤติกรรมของปัจเจกด้วย ฮาเบอร์มาสเห็นว่า ในโลกสมัยใหม่ lifeworldของมวลชนยิ่งถูกควบคุมมากขึ้นโดยโครงสร้างอำนาจรัฐและระบบตลาด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ฮาเบอร์มาสเติบโตในช่วงที่บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยของรุ่นครูบาอาจารย์ เขาจึงมีความเห็นแตกต่างออกไปบ้าง เขาเชื่อในเรื่อง ความรู้ การใช้เหตุผล และการสื่อสารในลักษณะต่างๆของปัญญาชนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสังคมได้แสดงความคิดเห็นโต้เถียงกันได้อย่างเสรี และใช้เหตุผลร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายก่อให้เกิดการสร้างและรักษาสังคมที่มีการใช้เหตุผลเป็นหลัก (คือสังคมที่ดี) ในการอยู่ร่วมกัน เขาเสนอความคิดเรื่อง พื้นที่สาธารณะ (public sphere) ว่าใน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่ระบบทุนนิยมจะครอบครองยุโรปอย่างเต็มที่ อำนาจของประชาสังคม (civil society) ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากเท่าๆกับที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ สำหรับฮาเบอร์มาส เขาเชื่อว่า พื้นที่สาธารณะ เป็นการรวมตัวของผู้คนที่มีแนวโน้มจะถูกครอบงำโดยชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มนายทุนที่มีฐานะและการศึกษา อำนาจที่พวกเขาแสดงออก คือ การใช้เหตุผล (rationality) มาตั้งคำถามท้าทายอำนาจรัฐ ฮาเบอร์มาสเองตระหนักดีว่าปรากฏการณ์ในเรื่อง พื้นที่สาธารณะ ที่มีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เป็นตัวกำกับด้วย ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์สังคมที่จะต้องเกิดขึ้นเสมอไปในทุกยุคสมัย ฮาเบอร์มาสเชื่อในเรื่อง พื้นที่สาธารณะ ว่าเป็นเวทีของการต่อรองอำนาจและสร้างสังคมที่มีเหตุผล พื้นที่สาธารณะปรากฏในสถาบันทางสังคม เช่น สหภาพแรงงานศาสนา กลุ่มเพื่อน สำหรับฮาเบอร์มาส ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในพื้นที่สาธารณะของปัจเจกและกลุ่มจึงเป็น
วิถีทางเดียวที่จะฟื้นฟู lifeworld ผ่าน communicative action
อย่างไรก็ตาม ฮาเบอร์มาส ถูกวิจารณ์ในประเด็นเรื่อง พื้นที่สาธารณะมากว่าพื้นที่นี้ก่อให้เกิดได้ทั้งการควบคุมและการกีดกันทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นๆเท่าๆกับการเป็นพื้นที่ของการใช้เหตุผลท้าทายอำนาจรัฐ (Calhoun 1992)นอกจากนั้นฮาเบอร์มาสยังได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นนักคิดที่สืบทอดและปกป้องปรัชญาวิธีคิดแบบยุคแสงสว่างทางปัญญา
กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ว่าความคิดของฮอร์กไฮมเมอร์และอดอร์โนค่อนข้างจะมีข้อเสนอที่เป็นไปได้และมีความชัดเจนในเรื่อง การสร้างวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่จุดอ่อนก็คือ การละเลยหรือมองข้ามการปฏิบัติการทางสังคมในชีวิตประจำวันของผู้คนที่อาจจะมีส่วนปะทะประสานหรือต่อรองกับอำนาจรัฐที่สถาปนาแล้วทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย ซึ่งฮาเบอร์มาสก็พยายามเติมเต็มในส่วนนี้ในแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะ
นักคิดในสำนักแฟรงค์เฟริตอีกผู้หนึ่ง คือ วัลเทอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ในงานเขียน เรื่อง "The Work ofArt in an Age of Mechanical Reproduction" (Benjamin 1977) ได้นำเสนอมุมมองในเรื่องการสร้างวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในเชิงบวกซึ่งแตกต่างออกไปจากอดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์โดยสิ้นเชิง เขาเห็นว่าข้อเสนอ เรื่อง การสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมุมมองจากวัฒนธรรมชนชั้นที่เรียกตัวเองว่า “ผู้ดี” หรือ กลุ่ม “ชนชั้นสูง”ที่ประสงค์จะเห็นความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานศิลปวัฒนธรรมที่ไม่มีการลอกซ้ำเลียนแบบ เบนจามินเชื่อว่าถ้ามอง
จากจุดยืนของประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ศิลปะพิเศษหายากยิ่งของชนชั้นสูงจะได้ถูกแพร่กระจายไปในราคาถูกให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึง การผลิตซ้ำและการที่ประชาชนนำไปสู่ชีวิตประจำวันของพวกเขาจึงเป็นเรื่องดีและก่อให้เกิดการตีความใหม่ๆจากมวลชนอันหลากหลายไม่จำเป็นต้องผูกขาดการตีความศิลปะโดยผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะชั้นสูงอีกต่อไป เบนจามินเห็นว่า การเสพงานศิลปะแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไม่จำเป็นที่จะต้อง
ทำให้ลืมปัญหาทางโลกในชีวิตประจำวัน ตรงกันข้าม เนื้อหาสาระของสื่อมวลชนหลายเรื่องกลับช่วยให้ประชาชนเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางสังคมและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น
เนื่องจากการผลิตซ้ำและการแพร่กระจายของวัฒนธรรมไปสู่มวลชนเป็นสิ่งที่ดี เบนจามินจึงเห็นประโยชน์และสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตวัฒนธรรมสินค้าให้มวลชน นอกจากนั้นเขาเห็นว่า ในระบบการผลิตแบบทุนนิยม การสร้างวัฒนธรรมสินค้ามวลชนเป็นไปเพื่อรับใช้การเมือง การเมืองในที่นี้ไม่ใช่การคิดถึงโลกอันสมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเมืองในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนซึ่งหมายถึงศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ในการ
สร้างนิยามความหมายหรือการตีความใหม่ๆของประชาชนนั่นเอง
สำนักวัฒนธรรมศึกษาเบอร์มิงแฮม(The Birmingham School)
ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย (Center for Contemporary Cultural Studies, CCCS)ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1964 มักเรียกกันย่อๆว่า สำนักเบอร์มิงแฮม (BirminghamSchool หรือบางทีก็มีชื่อเรียกว่า British Cultural Studies) โดยมีผู้บุกเบิก คือ ริชาร์ด ฮอกการ์ด (Richard Hoggart),สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall), อี. พี. ทอมสัน (E. P. Thompson), และ เรมอนด์ วิลเลี่ยมส์ (Raymonds Williams) จุดกำเนิดเริ่มจากโครงการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยของอังกฤษ ต่อมาพัฒนาไปศึกษาวัฒนธรรมที่ยังอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนธรรมดาในประเด็นต่างๆ เช่น สื่อ เพศ วัยรุ่น คนชายขอบ คนที่ถูกกดทับ วัฒนธรรมย่อย เป็นต้น การวิจัยนิยมทำในรูปสหสาขาวิชาผสมผสานระหว่างสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมวิจารณ์
สำนักนี้เกิดขึ้นภายใต้สังคมทุนนิยมในประเทศอังกฤษที่มีการพัฒนาความมั่งคั่งมาจนถึงระดับที่สามารถจัดโครงการรัฐสวัสดิการให้แก่ประชาชน กรรมกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนารสนิยมการใช้ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมไปสู่วัฒนธรรมแบบชนชั้นกลางมากขึ้น ในขณะเดียวกันปัญญาชนในสังคมอังกฤษก็สังเกตเห็นถึงกระแสการเสื่อมสลายของวัฒนธรรมดั้งเดิมของอังกฤษอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมวิถีประชา (popular culture) จากสหรัฐอเมริกาได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น จึงได้เกิดการรวมตัวกันของนักคิดผู้ก่อตั้งสำนักนี้เพื่อศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น เพลงร็อค เพลงป๊อป เพลงแจ๊ส ดนตรีแนวใหม่ๆ นิตยสารแฟชั่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เป็นต้น และเห็นว่าวัฒนธรรมวิถีประชาที่แท้จริงเท่านั้นที่จะมีพลังต่อสู้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในระบบทุนนิยม
การศึกษาวัฒนธรรมของนักคิดสำนักนี้มีแนวโน้มที่จะสนใจวัฒนธรรมย่อยของมวลชน เช่น กลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวกลุ่มคนไม่เข้าพวก (เช่น คนพลัดถิ่น เกย์ เลสเบี้ยน) และ กลุ่มคนชายขอบ ก็เพราะเชื่อว่าวัฒนธรรมย่อยเป็นการแสดงออกที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการกับชนชั้นของตนเองในบริบทของการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกวัฒนธรรมย่อยยังเป็นระบบของการสร้างความหมายและการหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับจินตนาการของผู้คน วัฒนธรรมย่อยไม่ได้เป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหญ่ แต่ละกลุ่มวัฒนธรรมย่อยล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ และเงื่อนไขที่เป็นเชิงบริบทของตนเอง
นักคิดสำนักนี้ปฏิเสธความคิดในเรื่อง economic determinism ของสำนักมาร์กซิสม์ คลาสิกโดยสิ้นเชิงและเชื่อในเรื่อง มนุษย์ในฐานะปัจเจก/กลุ่มผู้กระทำการ (Agency) ที่จะสร้างความหมายกับโลกรอบตัวของเขา ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากกลุ่มนีโอมาร์กซิสม์โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นพื้นที่ของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ในการช่วงชิงภาวะการนำตามทัศนะของกรัมชี่ อัลธูแซร์ในเรื่องอุดมการณ์และภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ สำนักแฟรงค์เฟริต
สัญญะวิทยาโครงสร้าง (Structural Semiotics) เช่น แฟร์ดินอง เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) และโรลองต์ บาร์ตธ์ (Roland Barthes) จิตวิเคราะห์โครงสร้าง (Structural Psychoanalysis) รวมทั้งเรื่องวัฒนธรรมกับอำนาจในสังคม โดย ปิแอร์ บูร์ดิเยอและมิเชล ฟูโกต์ ในเรื่องอำนาจของวาทกรรม
กล่าวโดยสังเขป ประเด็นร่วมกันของนักคิดที่มีอิทธิพลต่อสำนักเบอร์มิงแฮมที่กล่าวมาข้างต้น คือ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมย่อยในมิติต่างๆที่แสดงออกในชีวิตประจำวันของคนธรรมดากับโครงสร้างกับอำนาจในสังคม เน้นการพิจารณาว่า วัฒนธรรมในปริมณฑลของการประชันขันแข่งกันในการช่วงชิงการนำในการสร้างนิยามความหมายซึ่งมีผลต่อการครอบงำด้านอุดมการณ์และจารีตปฏิบัติของผู้คนในสังคม ในทัศนะของอัลธูแซร์ อุดมการณ์เป็นกรอบแนวคิด (conceptual frame) ที่คนใช้อ้างอิงในการอธิบายชีวิตประจำวันและประสบการณ์ของตนเองอุดมการณ์แสดงออกเป็นรูปธรรมในลักษณะต่างๆ เช่น ภาษา การประพฤติปฏิบัติ ผลงานด้านศิลปะแขนงต่างๆ และสื่อสารมวลชน เป็นต้น (กาญจนา แก้วเทพ 2544)
นักคิดเหล่านี้สนใจกระบวนการสื่อความหมายของสิ่งต่างๆในโลกรอบๆ ตัวเราในฐานะที่เป็นสัญญะ (sign)ภาษาจึงไม่เป็นเพียงเครื่องมือในการสะท้อนหรืออธิบายความจริงโดยไม่มีอคติของมนุษย์อย่างที่นักคิดสายประจักษ์นิยมบางคนเชื่อ ในการใช้ภาษาทุกคนล้วนแล้วแต่สอดใส่ทัศนคติ การให้คุณค่า ความรู้สึก ความเชื่อ อุดมการณ์ลงไปในรูปแบบต่างๆ ภาษาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการหรือการกระทำทางสังคมประเภทหนึ่งที่ต้องอิงหรือถูกกำกับโดยจารีตและกฎระเบียบสังคม (วัฒนธรรม) การวิเคราะห์การใช้ภาษาจึงเป็นการวิเคราะห์การกระทำของมนุษย์ไปพร้อมๆกันด้วย และมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นศึกษาการสร้างความหมายให้แก่โลกรอบๆตัวมนุษย์ซึ่งนักคิดแนวหลังโครงสร้างนิยมเรียกว่า วาทกรรม (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร 2545) วัฒนธรรมในแต่ละสังคมเป็นตัวกำหนดความหมายของโลกรอบๆตัวสมาชิกในสังคม แต่ก็มิได้ตายตัว ผู้ใช้หรือผู้เสพวัฒนธรรมก็เป็นผู้มีส่วนประกอบในการสร้างนิยามความหมายทางวัฒนธรรมด้วย ความหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งระบบวัฒนธรรมที่ไม่เคยตายตัว หยุดนิ่ง หากมีพลวัตในด้านความหมายมากมาย
สำหรับนักภาษาศาสตร์ ตัวที่ทำหน้าที่กำหนดความหมายให้ภาษาเรียกว่า รหัส (code) เป็นกฎเกณฑ์ของภาษาที่ต้องเข้าใจตรงกันจึงจะสื่อความหมายกันได้ ในทางสังคม รหัส คือ จารีตประเพณีระเบียบปฏิบัติในสังคม ความหมายที่ได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นกระแสหลักมีพลังอำนาจในการแยกแยะ กดทับ กีดกัน สิ่งที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือละเลยมองข้ามความหมายอื่นๆที่ไม่เข้ากลุ่มกับความหมายกระแสหลักในขณะเดียวกันก็สร้างความชอบธรรม หรือสร้างคุณค่าให้กับความหมายที่เป็นกระแสหลัก ดังนั้นสิ่งที่ยังมองไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้เขียนหรือพูดออกมา ความหมายที่ถูกเก็บกดหรือความเงียบ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง (Barthes 1972) ฟูโกต์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการแสดงอำนาจของภาคปฏิบัติการวาทกรรม (Foucault in Rabinow 1984)
จากอิทธิพลของความคิดเหล่านี้นำไปสู่แนวทางการศึกษาวัฒนธรรมของสำนักนี้ในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับภาคปฏิบัติการของวัฒนธรรม (cultural practices) ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจที่มาจากการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจและอื่นๆ ซึ่งมีประเด็นและบริบทที่หลากหลาย และเห็นว่าการศึกษาวัฒนธรรมควรเป็นทั้งการวิพากษ์ให้เห็นถึงการบิดเบือนและการครอบงำของสิ่งที่อวดอ้างว่าเป็นสัจจธรรมหนึ่งเดียวที่กลายเป็นกระแสหลักทางวัฒนธรรม รวมทั้งการ
ปฏิบัติการทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง นักคิดสำนักนี้รับวิธีการวิพากษ์และการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆและไม่แยกส่วนในการศึกษามาจากสำนักแฟรงค์เฟริต แต่มีมุมมองในเรื่องอำนาจที่มาจากการสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรมค่อนข้างแตกต่างกันมาก พวกเขาไม่ได้มองวัฒนธรรมที่กลายเป็นสินค้ามวลชนจากระบบทุนนิยมในแบบที่ครอบงำอุดมการณ์และการประพฤติปฏิบัติของประชาชนโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการมองวัฒนธรรมแบบติดลบมากของอดอร์โนและฮอร์กไฮมเมอร์ แต่นักคิดสำนักเบอร์มิงแฮมยังเชื่อในพลังวัฒนธรรมวิถีประชาที่แท้จริงที่จะสร้างนิยามความหมายใหม่ๆขึ้นมาปะทะประสานกับความหมายที่เป็นกระแสหลักของการสร้างอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในระบบทุนนิยม
ตัวอย่างของนักคิดในสำนักนี้ คนแรกที่จะกล่าวถึง คือ ทอมสัน (Thompson) เขาเคลื่อนย้ายความสนใจจากประเพณีเดิมๆของการศึกษาทางวัฒนธรรมที่เน้นวัฒนธรรมชนชั้นสูงมาสู่คนธรรมดาสามัญ โดยเน้นที่การศึกษาชีวิตประสบการณ์ ค่านิยม จินตนาการ และความหวังของคนธรรมดาสามัญ เขาเชื่อว่าในแต่ละวัฒนธรรมมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คน และความเป็นพลวัตของวัฒนธรรมซึ่งมีลักษณะวิภาษวิธีอยู่ตลอดเวลา
ระหว่างการดำรงอยู่กับจิตสำนึกทางสังคม (กาญจนา แก้วเทพ 2544)
วิลเลี่ยมส์ (Williams 1977) เป็นนักคิดคนสำคัญอีกผู้หนึ่งของสำนักเบอร์มิงแฮม เขาสนใจกระบวนการทำงานของวัฒนธรรม (cultural processes) ในปริมณฑลของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆเพื่อยึดพื้นที่ทางความคิดของประชาชน เขานำความคิดของกรัมชี่ในเรื่อง ภาวะการนำ (hegemony) มาขยายเพิ่มเติมโดยพิจารณาว่า ภาวะการนำโดยเฉพาะด้านความคิด เป็นสิ่งมีชีวิต (lived hegemony) เป็นสิ่งที่มีพลวัต เป็นกระบวนการ ไม่ใช่ระบบหรือโครงสร้างที่ตายตัว เป็นกระบวนการที่มีองค์ประกอบซับซ้อนอยู่ภายในซึ่งเชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคม และ
กิจกรรมของมนุษย์เข้าด้วยกันภายใต้บริบทเฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัด ภาวะการนำไม่เคยมีอำนาจเบ็ดเสร็จหนึ่งเดียวในตัวเอง รวมทั้งไม่ได้ปรากฏในรูปของการครอบงำแบบเด็ดขาดสูงสุด แท้ที่จริงภาวะการนำมีลักษณะของการสานต่อ นำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตใหม่ ต่อยอด ขยายผล และปกป้อง รวมทั้งอาจได้รับการต่อต้าน ถูกจำกัด อยู่ในกระแสของการเปลี่ยนแปลง และถูกท้าทายอย่างต่อเนื่อง ปรากฏทั้งในรูปแบบที่ต่อต้านภาวะการนำที่เป็นกระแสหลัก (counter
hegemony) และรูปแบบที่เป็นทางเลือกใหม่ๆให้กับสังคม (alternative hegemony) ภาวะการนำในสังคมจึงเป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีความสัมบูรณ์ในตัวเอง และขึ้นต่อกับการถูกท้าทาย ต่อรอง ต่อต้าน หรือร่วมมือได้ตลอดเวลา (Dirks,et al, 1994)
บทส่งท้าย
วัฒนธรรม” เป็นแนวความคิดที่มีความหลากหลายในด้านนิยามความหมาย มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทรรศน์(paradigm shift) จากนิยามที่เน้น ความเจริญงอกงามในเชิงบูรณาการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่สร้างเอกภาพร่วมกันของสมาชิกสังคม ตามขนบประเพณีของการสร้างความปรองดองสมานฉันท์แบบอนุรักษ์นิยม มาสู่การพิจารณาวัฒนธรรมในเชิงวิพากษ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์พื้นผิวหน้า
จากยุคสมัยกรีก โรมัน มาสู่ยุตร่วมสมัย จะพบว่า นิยามความหมายของแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาร่วมกันต่อเนื่องในลักษณะวิวัฒนาการเป็นสายเดียว ความคิดใน เรื่องวัฒนธรรมมีลักษณะหลากหลาย ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน สาระของแนวคิดมีทั้งลักษณะที่พัฒนา ขยายความออกไปจากนิยามความหมายเดิมและ/ หรือปฏิเสธต่อต้านการนิยามแบบเดิมในเวลาเดียวกัน รวมทั้งการสร้างนิยามใหม่เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ในบริบทร่วมสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมจึงมีลักษณะเป็นพลวัตสูงมากขึ้นอยู่กับเวลาสถานการณ์ และบริบทที่เป็นเงื่อนไขแวดล้อมของเรื่อง
การทำความเข้าใจความคิดในเรื่องวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจาก ความคิดที่แหลมคม แจ่มชัด จะเป็น อาวุธทางปัญญาที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้ ความเข้าใจอันดีในสาระสำคัญของการปฏิบัติงานด้านนี้ ส่งผลต่อการกำหนดพื้นที่ ขอบเขต และจุดยืนในการทำงานด้านนี้ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้น