วันพุธที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

Visual arts - ศิลปะแห่งการเปลี่ยนแปลง โดย อภินันท์ โปษยานนท์

Visual arts - ศิลปะแห่งการเปลี่ยนแปลง โดย อภินันท์ โปษยานนท์

วิวาทะในเรื่องวัฒนธรรมอันหลากหลาย และภาวะลูกผสมหลังอาณานิคมได้เร่งให้เกิดการจัดการเป็นลำดับเพื่อตอบสนองด้านวัฒนธรรมและการเมือง เรื่องที่มีการโต้เถียงกันนี้ได้ถูกตีความจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างหลากหลาย จากการที่มันเป็นกลยุทธ์ เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความหลากหลายขึ้น ไปจนถึงการจัดลำดับชั้นอำนาจของศูนย์กลางและชายขอบ

ความปรารถนาต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติและความเป็นชาติทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ ความคิดแบบหลายศูนย์กลางที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนการจัดลำดับศูนย์กลางของอำนาจ แต่เป็นการเสนอเสียงจากกลุ่มย่อยให้เป็นที่รับรู้ เสียงจากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่ได้สนใจเพียงแค่การดึงดูดชนกลุ่มน้อยต่างๆให้เข้ามาร่วมกันเพื่อที่จะแสดงตัวให้เป็นที่ปรากฏอย่างจอมปลอมอีกต่อไป แต่พวกเขาได้ร่างโครงสร้างเสียใหม่เพื่อบอกว่าโลกนี้ยังมีที่ๆมีวัฒนธรรมซึ่งมีพลวัตและมีสิ่งที่มีคุณค่าอยู่อีกมากมาย

ประเทศในแถบเอเชียได้ก่อตั้งเครือข่ายทางเศรษฐกิจผ่านการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาค อาทิ อาเซียน เอเปค เพื่อการต่อต้านการครองความเป็นเจ้าของกลุ่มประเทศยูโร-อเมริกัน และด้วยการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนพยายามที่จะสร้างค่านิยมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการส่งเสริมให้มีการจัดมหกรรมเพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีและจัดนิทรรศการศิลปะต่างๆขึ้น จุดมุ่งหมายของกิจการทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็คือการสร้างความผูกพันทางการเมือง และส่งเสริมเครือข่ายทางเศรษฐกิจ คุณลักษณะเฉพาะแบบท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อการรวมตัวกันในภูมิภาคนี้ ภายใต้นโยบายไม่แทรกแซงกันเพื่อรวมเป็นหนึ่งและเพื่อสร้างเอกภาพที่มีความหลากหลาย กลุ่มประเทศอาเซียนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาบางประการได้ อาทิ ความเกลียดชังชาวต่างชาติ และการค้าประเวณีข้ามชาติ เป็นต้น

แนวความคิดบางประการในการกระจายอำนาจในโลกศิลปะนั้นส่งผลให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ผันแปรจากการครอบงำของกลุ่มประเทศยูโร-อเมริกันไปสู่ความสนใจเพิ่มขึ้นในเรื่องการจำแนกความต่างและการกระจายศูนย์กลางแบบพหุวัฒนธรรม ผลที่ตามมาก็คือการกระจายศูนย์อำนาจทางศิลปะได้ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีความโดดเด่นขึ้นมาเป็นทางเลือกต่อ ที่ซึ่งเป็นเมืองหลวงของศิลปะอย่างนิวยอร์ก ปารีส หรือเบอร์ลิน ตลอดทศวรรษ 1990 การท้าทายต่อการครอบงำและการรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มประเทศ ตะวันตกเกิดขึ้นมาพร้อมกับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเอเชีย มันได้ทำให้กิจกรรมทางศิลปะรุ่งโรจน์ขึ้น ณ ศูนย์กลางทางศิลปะแห่งใหม่ที่เมืองโตเกียว กวางจู ฟูกูโอกะ ไทเป เซี่ยงไฮ้ กรุงเทพ และสิงคโปร์

ศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนร่วมกันในความรุ่งโรจน์และความตกต่ำระหว่างทศวรรษ 1990 ช่วงเวลาของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจหมายถึงเมืองอย่างกรุงเทพ มานิลา จาร์การต้า สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์อึกทึกไปด้วยกิจกรรมของศิลปะร่วมสมัย และเงินสดก็ไหลผ่านอย่างอิสระสู่การลงทุนทางศิลปะและการค้าศิลปะด้วยเช่นเดียวกัน

ภายใต้ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การอุปถัมภ์จากบริษัทธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการประกวดและการว่าจ้างให้สร้างงานศิลปะขึ้น ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างตระหนักถึงความสำคัญของการเสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดนิทรรศการ เทศกาล ตลอดจนถึงการประกวดงานศิลปะ พวกเขาต่างมุ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองต่างๆ ในประเทศของพวกเขามีสีสัน และเป็นศูนย์รวมแห่งความสนใจ แต่ภายหลังจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ และความวุ่นวายทางการเมืองในบางพื้นที่ ก็ทำให้ศิลปะร่วมสมัยในภาคพื้นนี้ตกต่ำถดถอยไปชั่วขณะ ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและเศรษฐกิจอันรวดเร็วนี้เอง ศิลปินในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และใช้ประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน พวกเขาสะท้อนปัจจัยหลายประการที่ได้ก่อความขัดแย้งและได้สร้างภาวะย้อนแย้งในสายใยของสังคมร่วมสมัยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น

วัฒนธรรมลูกผสมเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อาทิ ขบวนการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมขึ้นมาใหม่ในวัฒนธรรมหลังอาณานิคม การข้ามพรมแดนของวัฒนธรรมที่รับเข้ามาจากประเทศอื่น และความลุ่มหลงในวัฒนธรรมบริโภคที่มาจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น เรื่องเหล่านี้สะท้อนองค์ประกอบต่างๆที่หลอมรวมกันอย่างไม่น่าจะเข้ากันได้เลย และมันปรากฏอยู่ในความเคลื่อนไหวของศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคนี้

สื่อแบบดั้งเดิมต่างๆ อาทิ จิตรกรรม ยังคงได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่ศิลปินจำนวนมาก สำหรับพวกเขาจิตรกรรมยังคงห่างไกลจากความตาย การเลือกสื่อเทคนิคแบบนี้ก็คือปฏิกริยาต่อการไหลบ่าของศิลปะประเภทจัดวาง (installation) และศิลปะที่อาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ชม ( interactive art form) พวกเขาพอใจที่จะให้เรื่องราวบนผืนผ้าใบนั้นเป็นเหมือนพื้นที่แห่งการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ผลงานที่ชนะเลิศในงาน Indonesia Art Awards ซึ่งถูกนำมาแสดงในสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาร์กาต้าในปี 1998 นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่องานจิตรกรรม เราจะพบลักษณะแบบนี้ได้ในการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตามแทนที่ผลงานของศิลปินเหล่านี้จะแสดงถึงความสงบเยือกเย็นผ่านเทคนิคอันยอดเยี่ยมนั้น จิตรกรกลับแสดงให้เห็นถึงอาการคลื่นเหียนสังคมและความทุกข์ทรมานของผู้คน ตัวอย่างเช่น ผลงานของเอฟเฟนดิศิลปินอินโดนีเซีย งานของเขามักเกี่ยวข้องกับการที่ผู้อ่อนแอถูกกดดันจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือชาติชาย ปุยเปีย จิตรกรชาวไทย ผู้เป็นที่รู้จักดีในด้านการเขียนภาพเหมือนตัวเองในลักษณะเสียดสีและบิดเบี้ยวเหมือนคนวิกลจริต ส่วน อัลเฟรโด เอสกิลโล ศิลปินจากประเทศ ฟิลิปปินส์นั้นแสดงให้เห็นถึงความลุ่มหลงในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค กระบวนการกลายให้เป็นอเมริกัน และความทุกข์ยากของปัจเจกชนที่ได้รับผลกระทบที่มาในนามของการพัฒนาและความก้าวหน้า

นิทรรศการศิลปะในพื้นที่เฉพาะอย่างเช่น เชียงใหม่จัดวางสังคม เทศกาลงานศิลปะที่บาเกียว และนิทรรศการที่จัดประจำทุกสองปีที่ยอคยากาตาร์ ได้ชักจูงศิลปินให้ตระหนักเรื่องท้องถิ่นนิยมและความดั้งเดิม วิธีการจัดวางและวัสดุท้องถิ่นเป็นสื่อที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะรูปแบบทางศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพิธีกรรมและงานเฉลิมฉลองของท้องถิ่น ความสนใจในการใช้วัสดุท้องถิ่น เช่น ไม้ ดินเผา ขี้ผึ้ง และไม้ไผ่ มักจะพบเห็นได้ในงานของ เฮริ ดอโน , ดาดัง คริสตานโต , โมเอลโยโน , เอส . จันทราศรีกรันต์ , ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ และซานติอาโก โบส นอกจากนี้โครงการศิลปะขนาดใหญ่ที่คาดหวังจะเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นและต้องการสร้างสรรค์สันติภาพเกิดขึ้นเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคม 1999 ศิลปินชาวบาหลีได้ทำโครงการที่วิอันตา ซึ่ง โครงการ"ศิลปะและสันติภาพ" ได้รวบรวมผู้คนกว่า 2,000 คน ในการรวมพลังต่อต้านความรุนแรงและการกวาดล้างชนพื้นเมือง

เฮลิคอร์ปเตอร์จากทาบานันสู่ซานูได้นำผืนผ้ายาวหลายกิโลเมตรที่เต็มไปด้วยถ้อยคำ บทกวี และภาพเขียน มาทิ้งลงในมหาสมุทร จากนั้นนักเรียนกว่าร้อยคนในชุดขาวได้คลี่ผืนผ้านี้บนชายหาด และมีพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองไฟโดยสมาชิกของฮารี กฤษณะ ซึ่งได้สวดมนต์และอวยพรให้ผู้ที่ได้มาร่วมงานด้วย

การทำโครงการศิลปะในที่สาธารณะกับชุมชนที่วิอันตาอาจนำมาเปรียบเทียบได้กับโครงการศิลปะที่อาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ชมโดยศิลปินไทยอย่างสุรสีห์ กุศลวงศ์ และนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ปฏิกริยาจากวิธีการให้ของขวัญแก่ผู้ชมและการสร้างงานศิลปะแบบเจาะจงพื้นที่ (Site-specific work) โดยศิลปินทั้งสองกระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อหน้าที่และจุดหมายของงานศิลปะ พวกเขาเพิ่มเติมความหมายใหม่ให้สิ่งของธรรมดาๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แนวคิดของนาวินและสุรสีห์จัดอยู่ในบริบทของงานกึ่งคอนเซ็ปท์ชวล ซึ่งตามแนวโน้มกระแสของศิลปะโลกและเป็นแนวคิดที่นิยมความเป็นสากล ในขณะที่โครงการศิลปะสิ่งแวดล้อมที่วิอันตานั้น ตั้งอยู่บนจิตวิญญาณของความเป็นท้องถิ่นและศาสนาฮินดู

ปลายปี 1990 ศิลปะแนวเพอร์ฟอร์มานซ์ ( performance) และบอดี้อาร์ต ( body art) เริ่มโดดเด่นขึ้นและเป็นที่สนใจของศิลปินในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาคาดหวังจะพัฒนางานศิลปะแนวนี้อย่างจริงจัง ศิลปินมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะสื่อสารเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความวุ่นวายทางการเมือง และกิจกรรมทางสังคมผ่านศิลปะแนวเพอร์ฟอร์มานซ์ บนเส้นทางการค้นหาและการแสดงความคิดของศิลปินแนวทางนี้ ศิลปะที่จัดขึ้นในที่สาธารณะและเทศกาลศิลปะเพอร์ฟอร์มานซ์ต่างๆ อย่างเช่น โครงการศิลปะห้วยขวางเมกะซิตี้ และเอเชียโทเปียเป็นงานที่มีความสำคัญสำหรับขบวนการศิลปะร่วมสมัยในทิศทางนี้

ศิลปินแนวเพอร์ฟอร์มานซ์ที่เอาจริงเอาจังอย่าง อมานดา เฮง , ลี เวน , วสันต์ สิทธิเขตต์ , โจเซฟ อึง , มนตรี เติมสมบัติ ควรได้รับการติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข กับงานศิลปะเชิงจัดวางและวิดีทัศน์อันน่าตระหนกที่ตัวเธอเองสนทนากับศพนั้นนับเป็นประสบการณ์อันทรมาน ไมเคิล เชาวนาศัย แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นศิลปินที่มีความสามารถในการแสดงเพอร์ฟอร์มานซ์จากผลงานของเขาเมื่อเร็วๆนี้ชื่อ "23.30" ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ตัวตน และประเด็นรักร่วมเพศ

ถึงแม้ว่าจะมีศิลปินที่มีความสามารถพิเศษโดดเด่นในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ก็ตาม แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะละเลยเพิกเฉยต่อการไหลบ่าทางวัฒนธรรมที่ทำให้ศิลปิน งานศิลปะ และนิทรรศการศิลปะถูกมองเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

คณะกรรมการทางวัฒนธรรมที่มีอำนาจ ผู้จัดกิจการทางวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ ผู้อุปถัมภ์งานศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในโลกศิลปะระดับนานาชาติ ในที่ซึ่งความซับซ้อนในการสร้างคุณค่าสามารถจะเปลี่ยนให้ศิลปินมีชื่อเสียงขึ้นได้ในเพียงชั่วข้ามคืน

ด้วยวงจรหมุนเวียนของนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติภายในภูมิภาคนี้ เราจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการตัดสินของกรรมการทางวัฒนธรรม และการตัดสินรสนิยมทางศิลปะในสถานที่อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างรสนิยมและมูลค่าของงานศิลปะ ตัวอย่างเช่น การที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจกับโครงการศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เชื่อมโยงกับการสร้างภาพพจน์ที่ดีในการแลกเปลี่ยนทางการค้าและการท่องเที่ยว การเฝ้ามองสินค้าทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ของชาวญี่ปุ่นได้พัฒนาไปอย่างมากเป็นเวลานานหลายปีแล้ว แทนที่ภัณฑารักษ์จากประเทศญี่ปุ่นจะคัดเลือกนำเข้างานศิลปะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นได้ชมโดยตรง เมื่อเร็วๆนี้กลับมีกระบวนการคัดเลือกและการตัดสินการแลกเปลี่ยนงานศิลปะซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง ดังนั้นศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวญี่ปุ่นจึงได้มาปรากฏตัวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น ยาสุมาสะ โมริมูระ ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในระดับโลกได้จัดแสดงนิทรรศการของเขาขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพและในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมกับประเทศภายนอกเอเชียถูกทำให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นด้วยแนวความคิดต่างๆที่ได้กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว อาทิ การทำให้เป็นอื่น แนวคิดหลังอาณานิคม แนวคิดจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม และการครองความเป็นเจ้า มันเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและจะต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนในการสร้างความฟู่ฟ่าให้แก่ศิลปะข้ามชาติในรูปของ การแสดงงานศิลปะระดับนานาชาติ งานนิทรรศการศิลปะต่างๆ และมหกรรมแสดงศิลปะโดยตัวแทนศิลปินเพื่อการขาย ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อศิลปินร่วมสมัยของเอเชียจึงเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับศิลปินจากภูมิภาคนี้ที่จะแสดงความสามารถพิเศษของพวกเขาออกมา

ในบริบทของศิลปะและวัฒนธรรมที่ถูกคิดขึ้นเพื่อรับใช้ความสนใจเฉพาะของผู้จัดงานและประเทศเจ้าภาพนั้น เราควรจะมีสติต่อความปรารถนาของพวกเขาที่จะแสดงการจัดแบ่งชั้นวรรณะทางสิทธิและอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือปกปิดก็ตาม

งาน Asia-Pacific Triennial ที่เมืองบริสเบน คือกรณีที่ศิลปะร่วมสมัยมีดุลยภาพที่ดีกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ในด้านที่เกี่ยวกับการค้า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกับชนพื้นเมือง เหนือสิ่งอื่นใดผู้จัดงานชาวออสเตรเลียและศิลปินจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างรุ่งเรือง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือประเทศที่มีดินแดนเล็กกว่าอย่างสิงคโปร์ พวกเขาพยายามที่จะทำให้ตัวเองมีสิทธิเหนือสินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ แต่มองในด้านดีแล้วศิลปินจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีกำไรอย่างมากในการเข้าไปร่วมโครงการทางวัฒนธรรมเหล่านี้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอนาคตกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มวิสิทธิ่งอาร์ท ( Visiting Arts) และ กลุ่มอฟาร์ ( AFAA) กลุ่มอเสิฟ (ASEF) ซึ่งจะมีอิทธิพลมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเคลื่อนไหวทางกิจกรรมวัฒนธรรมที่ข้ามไปมาและเครือข่ายทางศิลปะซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างเข้มข้นนี้ มันเป็นแรงจูงใจและแรงปรารถนาโดยธรรมชาติของศิลปินที่จะผลักดันตัวเองเข้าสู่วงจรของเวทีศิลปะโลก แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาควรระลึกอยู่เสมอว่าขบวนการศิลปะนานาชาติในทิศทางใหม่นี้มีแบบแผนที่จำกัด อคติ และมีการแบ่งชั้นวรรณะอยู่ด้วย

ในที่สุดการตอบสนองต่อความเบี่ยงเบนของแบบแผนใหม่นี้ก็จะสะท้อนกลับมาสู่วาทกรรมที่จะตามมา นั่นก็คือความต้องการพื้นที่ที่รวมศูนย์แห่งเอเชีย แต่อย่างน้อยในทศวรรษหน้า การแข่งขันทางความรู้และข้อมูลข่าวสารทางเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัยจะสร้างความรื่นเริงมีชีวิตชีวาอย่างมหาศาล มันจะเป็นช่วงเวลาแห่งนาฏกรรมของการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะทำให้ศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาคนี้รุ่งโรจน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล
แปลจาก: Apinan Poshyananda. "Art of Change." Bangkok Post. 30 January 2000

http://www.artbangkok.com/detail_page.php?sub_id=58

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น