วันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเอกสารรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกโลก (Memory of the World)
"ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียนเอกสารสำคัญ ของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกแห่งความทรงจำ ของโลก นับเป็นผลงานชิ้นที่ 2 ของไทย หลังศิลาจารึกพ่อขุนได้รับการประกาศยกย่องเป็นชิ้นแรก เอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ประกอบด้วย เอกสารการเลิกทาส และเอกสารอื่นๆที่นับเป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ของประเทศ เตรียมเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้ พร้อม ส่งเสริมให้เด็กศึกษาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และสำนึกความเป็นไทยนับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติอีกครั้ง และต้องจดจำรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อยูเนสโกประกาศรับรองให้เอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัดกรทะรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) มีมติเป็นเอกฉันท์ระหว่างการประชุมที่ประเทศบาร์เบโดส ระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2552 ประกาศให้เอกสารสำคัญของรัชกาลที่ 5 เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดนได้รับการรับรองจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552
เอกสารดังกล่าวประกอบด้วย เอกสารการเลิกทาสและเอกสารอื่นๆที่แสดงให้เห็นถึงนโยบายการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมให้กรุงสยามดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่ในความสงบได้อย่างดี ได้แก่ 1.ระบบการจัดการศึกษา 2.ระบบการสาธารณสุข 3.ปรับปรุงสาธารณูปโภค ระบบการไปรษณีย์โทรเลข 4.ระบบคมนาคม 5.จัดระบบการบริหารราชการ เปลี่ยนจากเวียง วัง คลัง นา เป็น 12 กระทรวง 6.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั้งหมด จัดเก็บภาษีเป็นระบบมากขึ้น และจัดกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก 7.จัดระบบประปา ไฟฟ้าให้ทั่วถึง และ 8.พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรม อาทิ พระราชนิพนธ์เงาะป่า ไกลบ้าน เป็นต้น โดยเป็นเอกสารต้นฉบับทั้งหมด 800,000 หน้า เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และห้องสมุดแห่งชาติ เป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นสื่อสัมพันธ์กับประเทศที่เจริญแล้วได้ทั้งโลก
ม.ร.ว.รุจยา อาภากร กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารความทรงจำแห่งโลกทั้ง 3 ประเภท ดังนี้ อย่างแรกต้องเป็นของแท้ ไม่ใช่สำเนาหรือการลอกเลียนแบบ และต้องเป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจทดแทนได้ ในแง่ความสำคัญในโลกต้องมีคุณค่าในแง่ของเวลาและอายุสถานที่ บุคคล เนื้อหาสาระ แนวคิดรูปแบบและวิธีเขียน หรือมีความสำคัญทางสังคม จิตวิญญาณ ในชีวิตชุมชน และต้องมีลักษณะของความหายาก ความบริบูรณ์ และความเสี่ยงในแง่ของการต้องมีการป้องกันไม่ให้เสื่อมสภาพ หรือถูกทำลายไม่ว่ากรณีใดๆ ร่วมด้วย สุดท้ายต้องมีแผนการบริหารจัดการที่เหมาะสม สมควรแก่ความสำคัญของเอกสารมรดก ซึ่งหมายถึงการอนุรักษ์และการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความทรงจำโลกเยอะไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เพียงแต่ของเราส่วนมากจะใช้วิธีถ่ายทอดเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากหรือมุกปาฐก มากกว่าที่จะจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะมีการจัดเก็บไว้บ้างแต่ก็กระจัดกระจาย และไม่ค่อยถูกวิธี ทำให้เอกสารความทรงจำของชาติสูญหายผุผัง เห็นเป็นภาพรวมไม่ชัดเจน จึงเป็นการดีที่การประชุมในครั้งนี้ มีแบบฟอร์มให้ผู้ที่คิดว่าตนเองมีเอกสารมรดกความทรงจำโลก ได้กรอกบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐานในระดับชาติเพื่อเสนอต่อไปยังยูเนสโก้ ซึ่งเดิมเราไม่เคยมี ถือเป็นการอนุรักษ์ของเก่าและเก็บหลักฐานที่เกิดขึ้นใหม่ ที่อาจส่งผลต่ออนาคตไปในตัว"
ความทรงจำแห่งโลกบอกกล่าวให้เข้าใจโดยทั่วกันว่า หมายถึงความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ เรื่องราวของมนุษย์ชาติทั้งโลก ที่มีถิ่นฐานอยู่ตามที่ต่างๆ มีวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งก็คือการบันทึกด้วยภาพ ลายลักษณ์อักษร และเสียงลงในวัสดุต่างๆ เพื่อกันลืม เพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ทราบและนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น