วันศุกร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

สังคมวิทยาในภาพยนตร์ศึกษา

[โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท / บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา / Public Bookery, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2552]
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับนับถือประหนึ่งว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งในบ้านเรา คือ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา และด้วยการศึกษาและสอนวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของสื่อสารมวลชนมายาวนานหลายสิบปี ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ในทางวิชาการของภาพยนตร์ศึกษาและการวิจารณ์ภาพยนตร์ในบ้านเราด้วย

หนังสือ “ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย” กลายเป็นตำราที่นักสื่อสารมวลชนควรจะอ่าน เช่นเดียวกับหนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ด เพื่อวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์” ก็เป็นตำราที่ผู้สนใจในภาพยนตร์และการวิจารณ์ภาพยนตร์ควรจะอ่านด้วย

หนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” (ปี 2533) ถือเป็นหนังสือกึ่งวิชาการเล่มแรกๆ ในบ้านเราที่พยายามยืนยันคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง นอกเหนือจากความบันเทิงที่คนทั่วไปคุ้นเคย ด้วยน้ำหนักของหลักวิชาที่แน่นหนา ชวนให้พิเคราะห์ภาพยนตร์เป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่ตีความและเรียนรู้ได้หลายแง่มุม

พอมาถึงหนังสือ “โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท” อ.บุญรักษ์ ก็เน้นให้เห็นถึงคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะเอกสารทางสังคมมากขึ้น

“ว่ากันทางสังคมศาสตร์ ภาพยนตร์คือเอกสารทางสังคมชนิดหนึ่ง ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ พลังทางสังคมมากมาย นับตั้งแต่สัมพันธภาพระหว่างรัฐและชนชั้น จนกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกชน ต่างก็เข้ามามีส่วนส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของภาพยนตร์อย่างพิสดารทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์จึงเป็นเอกสารในทำนองเดียวกันกับหนังสือ” (หน้า 95)

จะว่าไปแล้วหนังสือเล่มนี้ก็เป็นภาคต่อของ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” นั่นเอง คือรวบรวมเอกสารการสอนและบทความที่ อ.บุญรักษ์ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน ตั้งแต่ปี 2534-2549 ร่วม 15 ปีที่มีหลายประเด็นต่อเนื่องมาจาก “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” ตามการพัฒนาของภาพยนตร์ทั้งในระดับสากลและในบ้านเราเอง เป็นช่วงยาวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เทคนิคการถ่ายทำ และเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ยกตัวอย่างเช่นในวงการภาพยนตร์ไทย หนังสือเล่มนี้บันทึกสภาพการณ์และแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งภาพยนตร์ไทยตกอยู่ในสภาพ “ไปไม่ถึงไหน” และ “ตกอยู่ในฐานะที่ไม่แตกต่างจาก ‘ศิลปะพื้นบ้าน’ คล้ายๆ กับลิเก อันตกค้างมาจากวัฒนธรรมเก่า” (หน้า 81) จนมาถึงปลายทศวรรษ 2540 ซึ่งภาพยนตร์ไทยเป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศ และเริ่มประสบความสำเร็จในระดับโลกประปราย ทั้งในแง่การค้าและศิลปะ ดังเช่นหนังของ จา พนม และ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นต้น

จะเห็นข้อเสนอแนะของ อ.บุญรักษ์ เป็นลำดับ ตั้งแต่การเสนอให้ปฏิรูปธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดใหม่ๆ ที่มีอำนาจในการซื้อ การเสนอให้ตั้งสถาบันภาพยนตร์ เพื่อเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาและกำหนดทิศทางในภาพรวม การชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์หนังเก่า ซึ่งถือเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” ตลอดจนการชี้ให้เห็น “มูลค่า” ของงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ในทางเศรษฐกิจ จนอาจกล่าวได้ว่า อ.บุญรักษ์ เป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่อง Creative Economy มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน

“ศิลปะและวัฒนธรรมจะเป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง ทั้งนี้โดยยึดการเปิดรับศิลปะและวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเลือกสรร ประกอบกับการพัฒนาสัดส่วนที่งดงามใน “ความเป็นไทย” ขึ้นในกรอบของชาตินิยมก้าวหน้า (progressive nationalism) ซึ่งเป็นการผสมผสานของดีจากภายนอกและภายในอย่างรู้สึกตัว” (หน้า 105)

จนมาถึงข้อแนะนำในยุคภาพยนตร์ไทย “โก อินเตอร์”

“ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยสำหรับตลาดโลกยังจะต้องเสาะแสวงหาและผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ทวีป ภูมิภาค กลุ่มวัฒนธรรม และภาษาต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายที่กำกับธุรกิจภาพยนตร์ในแต่ละตลาดเป็นอย่างดีด้วย / องค์ความรู้ประเภทนี้คือ ‘กรอบแห่งการอ้างอิง’” (หน้า 113)
ภาคที่หนึ่งของหนังสือ เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง นโยบาย และบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ไทย” ภาคที่สอง เป็นประสบการณ์จาก “บางกระแสในภาพยนตร์ระหว่างประเทศ” ตั้งแต่บทบาทของฮอลลีวูดในฐานะเจ้าโลก กินส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จนกล่าวได้ว่า “โรงงานแห่งความฝัน” เหล่านี้เป็นอุสาหกรรมชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และเป็นสินค้าส่งออกข้ามชาติที่ก่อรายได้มหาศาล จนภาพยนตร์สัญชาติอื่นไม่อาจเทียบเทียม

นอกจากนี้ค่านิยมตามความฝันแบบอเมริกันยังแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านทางภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วย จนไปมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ในสังคมต่างๆ ไม่น้อย

กระนั้นก็ยังมีหนังบางประเภทที่คัดง้างกับค่านิยมกระแสหลัก ซึ่งดูจะเป็นหนังที่ อ.บุญรักษ์ ชอบที่จะวิเคราะห์เป็นพิเศษ ดังตัวอย่างของหนังที่เลือกมาเขียนถึงในส่วนหลังของหนังสือ นอกจากจะให้ข้อมูลของหนังและผู้กำกับโดยสังเขปแล้ว ยังจะได้รู้ถึงบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง ดังที่ อ.บุญรักษ์ เรียกว่าเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท (contextual criticism) ซึ่งมุ่งสำรวจตีความภาพยนตร์แต่ละเรื่องตามสายใยความสัมพันธ์ที่แวดล้อมอยู่ในหลายระดับความหมาย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองที่ผู้เขียนมีความสนใจอยู่เป็นพื้นฐาน

จาก “ความเบื้องต้น” อ.บุญรักษ์ ได้เรียบเรียงให้มองเห็นพัฒนาการไว้ก่อนแล้วว่า การวิจารณ์ภาพยนตร์เริ่มจากตัวบทก่อน จากนักวิจารณ์ในตระกูลวารสารศาสตร์ที่รายงานและปริทัศน์ภาพยนตร์เป็นคู่มือการบริโภคในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ต่อมาก็เกิดนักวิจารณ์ในตระกูลมนุษยนิยม ซึ่งเริ่มวิเคราะห์หนังอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และมีหลักในการประเมินคุณค่าบ้างแล้ว

พอเข้าสู่ยุค 60-70 การศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นวิชาการก็เริ่มแพร่หลายไปในหลายมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดทฤษฎีเกี่ยวกับภาพยนตร์ขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็พัฒนามาเป็นการวิจารณ์สำนักบริบท ซึ่งใช้ความรู้หลากหลายสาขามาทำความเข้าใจภาพยนตร์ เพื่อให้เข้าใจมิติทางสังคมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

บริบทเหล่านี้ช่วยทำให้เห็นว่าหนังก็เป็นบ่อเกิดของการเติบโตทางสติปัญญาได้อีกทางหนึ่ง.

http://www.nokbook.com/book_context.html
http://www.nokbook.com/head_book2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น