[หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย / ธนา วงศ์ญาณณาเวช / Unfinished Project Publishing, พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551]
หนังสือเล่มบางๆ นี้ตบตาคนอ่าน แอบแฝงมาอยู่ในชั้นหนังสือเกี่ยวกับหนัง ทำท่าเหมือนจะอธิบายความเป็นหนังศิลปะว่าไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ประกอบขึ้นมาจากปัจจัยมากมาย ทว่าคนรักหนังอ่านแล้วอาจจะหงายหลังล้มตึง เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้ยกมานั้น เป็นไปเพื่อถอดรื้อมายาคติเกี่ยวกับความเป็นศิลปะของหนังต่างหาก
พูดง่ายๆ ว่าหนังไม่ได้เป็นศิลปะในตัวเอง แต่ความเป็นศิลปะของหนังประกอบสร้างขึ้นมาจากกรอบความคิดและสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ความจริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการในสายสังคมศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรมเพื่ออธิบายวาทกรรมในการประกอบสร้างแนวคิดนั้นๆ ขึ้นมา เพียงแต่เขียนในรูปแบบที่ลำลองหน่อยเท่านั้น
ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามแฝงของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับ “เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น” คนหนึ่งของเมืองไทย ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากความรู้ที่ล้วงลึกเข้าไปในรากเหง้าของวัฒนธรรมตะวันตกอันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาสมัยใหม่ทั้งหลาย จนเห็นที่มาของกระสวนความคิดซึ่งสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ของชาวตะวันตกอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากจะเข้าใจให้ถ่องแท้ก็ต้องรู้ซึ้งถึงที่มานั้นด้วย
แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ หรือ Postmodernism ส่วนใหญ่จะเป็นการถอดรื้อปรัชญาสมัยใหม่ลงในหลายด้าน แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเข้าใจความเป็นสมัยใหม่อย่างถ่องแท้เสียก่อน นักวิชาการผู้นี้เสนอผลงานศึกษาเรื่องยากๆ ยุ่งๆ เหล่านี้ออกมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องกว่าใคร มิเพียงเท่านั้นลีลาของเขายังเป็นแบบโพสต์โมเดิร์นโดยเนื้อแท้ ขณะที่นักวิชาการท่านอื่นอาจจะพยายามเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” ด้วยระเบียบวิธีที่ชัดเจนแบบ “สมัยใหม่” แต่ “ธนา” ยังคงทิ้งร่องรอยวกวนแตกกระจายไม่รู้จบในสัมพันธบทของความหมาย อันเป็นภาวะพื้นฐานอย่างหนึ่งของความเป็นหลังสมัยใหม่
ดังจะเห็นว่า ด้วยความที่เป็นคนรู้เยอะ การเล่าเรื่องของเขามักจะมีการอธิบายขยายความซ้อนการอธิบายขยายความต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จนยากที่จะจับเค้าโครง หรืออาจจะไม่มีเค้าโครงเลย นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยของประเด็นที่กำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้นหนึ่งประโยคของเขาอาจจะขยายยาวได้หลายหน้ากระดาษ นอกจากนี้ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้งก็ออกไปทางแผลงๆ แต่ละลานตาไปด้วยความรู้สารพันอย่างคาดไม่ถึง
ด้วยหน้าที่การงานแล้ว “ธนา” เป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ แต่เขาก็มีผลงานครอบคลุมหลายศาสตร์ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ความคิดและวัฒนธรรมศึกษา ธนา วงศ์ญาณณาเวช เป็นนามที่เขาใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับหนัง ดนตรี หรือมหรสพอื่นๆ เป็นประจำ สวนใหญ่จะเป็นมหรสพชั้นสูงของตะวันตกที่ต้องใช้ความรอบรู้เป็นพิเศษ หรือแม้จะเขียนถึงหนังธรรมดา เขาก็จะตีความประเด็นที่สนใจเสียจนล้ำลึก
หนังสือ “หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย” ไม่ได้เขียนถึงตัวหนังโดยตรง แต่เขียนถึงกระบวนการของการสร้างคุณค่าในเชิงศิลปะให้กับหนัง เพื่ออธิบายเชื่อมโยงถึงสภาพการณ์บางอย่างในสังคม กรณีศึกษาที่เขายกมาเป็นตุ๊กตาในครั้งนี้คือสถานะของภาพยนตร์ในสังคมอเมริกันและยุโรปในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มวางรากฐานบางอย่างที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ธนาเริ่มด้วยการชี้ให้เห็นว่าเดิมทีภาพยนตร์ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะ “ศิลปะ” เพราะเห็นว่าเป็นผลผลิตของ “ยนตร์” หรือ “เครื่องจักร” มิใช่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งหมดเหมือนภาพวาด ดนตรี หรือศิลปะแขนงอื่นๆ
สำนึกถึงคุณค่าในเชิงศิลปะของชาวยุโรปเข้มข้นขึ้นเมื่อเครื่องจักรมีบทบาทในการผลิตแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ของที่ผลิตโดยฝีมือมนุษย์จึงถูกยกระดับให้มีความพิเศษกว่า เพราะผลิตได้น้อยกว่า และไม่ซ้ำกันเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม แต่กระนั้นก็เป็นค่านิยมที่มีขอบเขตจำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำในสังคมเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปใช้ข้าวของจากโรงงานอุตสาหกรรมในชีวิตประจำวันกันหมดแล้ว
สังคมอุตสาหกรรมยังนำมาซึ่งมวลชน (Mass) ซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน และขาดลักษณะจำเพาะตนแบบปัจเจกชนที่มีวิจารณญาณของตัวเอง นั่นเองที่ปัญญาชนเห็นว่าเสียงข้างมากอาจทำลายอุดมคติของประชาธิปไตยลงได้ในวันหนึ่ง หากเป็นมวลชนที่มีแต่ปริมาณ แต่ขาดประสิทธิภาพในการใช้เหตุผล ดังเช่นกรณีของฮิตเลอร์และพรรคนาซีเยอรมันในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
หรือตัวอย่างของรสนิยมมวลชน ซึ่งมักจะเป็นที่ทนไม่ได้ของปัญญาชน แม้พวกเขาจะอ้างว่ายืนเคียงประชาชนส่วนใหญ่เพียงใดก็ตาม หนังที่ปัญญาชนยกย่องว่าดีอาจไม่มีใครดูเลย ขณะที่หนังซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบดูอาจเป็นไปในทางที่ปัญญาชนต้องส่ายหน้า
ธนาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมยุโรปกับสังคมอเมริกันผ่านทางสภานะของภาพยนตร์ สังคมยุโรปยังมีสำนึกเรื่องชนชั้น แรกเริ่มก็มองว่าหนังเป็นความบันเทิงชั้นต่ำราคาถูก ไม่ได้มีความเป็นศิลปะ ต่อมาเมื่อต้องต่อสู้กับรสนิยมสาธารณ์ของหนังอเมริกัน ก็หันมายกย่องความเป็นศิลปะของหนังไว้เสียจนเลิศลอยห่างไกลจากตลาด ขณะที่สังคมอเมริกันเองก็มีแต่สำนึกเรื่องการค้าขาย เพราะฉะนั้นหนังฮอลลีวู้ดจึงไม่เคยสนใจว่ามันจะเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ นอกจากว่าจะขายได้มากหรือน้อยเท่านั้น
เช่นนั้นเองหนังฮอลลีวู้ดจึงแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกในฐานะสินค้าเพื่อความบันเทิงที่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ขณะที่หนังยุโรปต้องจำกัดตัวเองอยู่กับโรงหนังอาร์ตเฮ้าส์เล็กๆ ตามสถาบันที่มีคนดูอยู่ไม่กี่คน
สถานการณ์ในปัจจุบันอาจต่างไปจากเมื่อก่อนมาก เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง หนังก็มีหลากหลายประเภทมากขึ้น จนไม่สามารถแบ่งแยกเป็นหนังตลาดกับหนังศิลปะได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว
เช่นนั้นเองความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากโครงสร้างการผลิตและฐานคิดที่ต่างกันก็อาจละลายไปได้ด้วยความหลากหลาย การแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายอาจเป็นแค่ภาพลวงตาจากความคุ้นเคยของวิธีคิด หนังอเมริกันไม่ได้มีแค่หนังตลาด หนังยุโรปก็ไม่ได้มีแค่หนังศิลปะ ตลาดหรือความเป็นศิลปะไม่ได้แบ่งออกจากกันอย่างเด็ดขาดด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก แต่แบ่งแยกออกจากกันด้วยความคิด และแท้จริงแล้วสรรพสิ่งในโลกก็ยากที่จะแบ่งแยกหมวดหมู่ไปตามความคิดของมนุษย์
เขียนรูปด้วยสีเดียวยากที่จะทำให้สวย ความขัดแย้งระหว่างสี 2 สีก็อาจละลายหายไปได้ด้วยการระบายสีที่หลากหลายลงไปในภาพ.
วันศุกร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น