วันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓

เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity)

ปัจจุบันคำที่ใช้กันมากและอาจสร้างความสงสัยให้ผู้คนได้ไม่น้อยก็คือคำว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้

เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่รู้จักใช้คอนเซ็ปท์ Creative Economy (CE) ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกในรูปของภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลง นักร้อง แฟชั่น การท่องเที่ยว ศิลปะการแสดง อาหาร ฯลฯ ซึ่งสร้างการจ้างงานและรายได้อย่างมหาศาลเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม

ความหมายอย่างง่ายของ CE ซึ่งให้โดย John Hawkins (ในหนังสือชื่อ The Creative Economy : How People Make Money From Ideas ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC) ก็คือ "การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์" สาขาการผลิตที่พัฒนาไปสู่ CE จะเรียกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries หรือ CI) ซึ่งหมายถึงกลุ่มกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญ

UNCTAD แบ่งประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ......
1) ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage or Cultural Heritage) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expression) เช่น ศิลปะและงานฝีมือ เทศกาลงานและงานฉลอง เป็นต้น และกลุ่มที่ตั้งทางวัฒนธรรม (Cultural Sites) เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และการแสดงนิทรรศการ เป็นต้น
2) ประเภทศิลปะ (Arts) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนพื้นฐานของศิลปะ และวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 กุล่ม คือ งานศิลปะ (Visual Arts) เช่น ภาพวาด รูปปั้น ภาพถ่าย และวัตถุโบราณ เป็นต้น รวมทั้งศิลปะการแสดง (Performing Arts) เช่น การแสดงดนตรี การแสดงละคร การเต้นรำ โอเปร่า ละครสัตว์ และการเชิดหุ่นกระบอก เป็นต้น
3) ประเภทสื่อ (Media) เป็นกลุ่มสื่อผลิตงานสร้างสรรค์ที่สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ งานสื่อสิ่งพิมพ์ (Publishing and Printed Media) เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ เป็นต้น และงานโสตทัศน์ (Audiovisual) เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์ วิทยุ และการออกอากาศอื่นๆ เป็นต้น
4) ประเภท (Functional Creation) เป็นกลุ่มของสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มการออกแบบ (Design) เช่น การออกแบบภายใน กราฟิค แฟชั่น อัญมณี และของเด็กเล่น เป็นต้น ส่วนกลุ่ม New Media ได้แก่ ซอฟต์แวร์ วิดีโอเกม และเนื้อหาดิจิตอล เป็นต้น และกลุ่มบริการทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Services) ได้แก่ บริการทางสถาปัตยกรรม โฆษณา วัฒนธรรมและนันทนาการ งานวิจัยและพัฒนา และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล และความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น......."

ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดขอบเขตของ CE หรือ CI อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้พยายามจัดกลุ่มของ CI ตามลักษณะของบัญชีรายได้ประชาชาติ โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มได้แก่
1) งานฝีมือและหัตถกรรม (Crafts) 2) งานออกแบบ (Design) 3) แฟชั่น (Fashion) 4) ภาพยนตร์และวิดีโอ (Film & Video) 5) การกระจายเสียง (Broadcasting) 6) ศิลปะการแสดง (Performing Arts) 7) ธุรกิจโฆษณา (Advertising) 8) ธุรกิจการพิมพ์ (Publishing) 9) สถาปัตยกรรม (Architecture)
ข้อมูลของสำนักบัญชีประชาชาติปี 2549 ระบุว่ามูลค่าของ CI ของทั้ง 9 กลุ่มข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.4 ของ GDP โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 848,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกในปี 2549 ประมาณ 289,000 ล้านบาท

ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นสินทรัพย์สร้างสรรค์ (Creative Assets) อยู่มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปธรรมหรือนามธรรม ซึ่งสามารถนำไปสร้างเสริม CE ได้เป็นอย่างดี

ในด้านรูปธรรม เรามีพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกต พระพุทธรูปงดงามพระราชวัง วัดวาอาราม เรือสุพรรณหงส์ อาหารไทย รำไทย นวดไทย ข้าวไทย ผลไม้ไทย ผ้าไหมไทย สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ฯลฯ แหล่งท่องเที่ยว เช่น อยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เยาวราช สำเพ็ง เขาพระวิหาร เมืองโบราณ ฟาร์มจระเข้ ฯลฯ

ในด้านนามธรรม เรามีเรื่องราวของ Siamese Twins อิน-จัน (คำว่า Siamese สามารถช่วยสร้าง CE ได้เป็นอย่างดีเพราะฝรั่งรู้จัก Siamese Twins/ Siamese Cats แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าประเทศไทยกับสยามคือประเทศเดียวกัน บ้างก็นึกว่า Thailand คือ Taiwan) สะพานข้ามแม่น้ำแคว เขาตะปู (ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ 007 James Bond) ฯลฯ

วัตถุดิบเหล่านี้กำลังรอคอยการพัฒนาขึ้นเป็น Creative Assets เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้าง Creative Industries

หัวใจสำคัญของการพัฒนาก็คือความคิดสร้างสรรค์ (Creative Ideas) ซึ่งมิได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด หากเกิดขึ้นจากการมีทักษะในการคิด (Thinking Skills) และการมีความคิดริเริ่ม (Originality) ซึ่งต้องมีการเรียนการสอน ฝึกฝนกันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (2553-2555) ของรัฐบาลชุดนายกฯ อภิสิทธิ์นี้ งานสร้าง CE ได้รับเงินจัดสรรรวม 17,585 ล้านบาท โดยจัดสรรให้แก่การส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมช่างฝีมือไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมรวมออกแบบและสินค้าเชิงสร้างสรรค์ และการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หากประเทศของเราจะอยู่ได้ดีในหลายทศวรรษหน้า ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเราจำเป็นต้องพัฒนาจากระดับต่ำสุด คือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต (Factor-driven Economy คือ การใช้การผลิตด้วยต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยสำคัญ) เพื่อเข้าสู่ระดับความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเป็นลำดับคือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven Economy)
และเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) ในที่สุด

แหล่งที่มา โดย วรากรณ์ สามโกเศศ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11422

Presentation click เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับประเทศไทย
Presentation เรื่อง “จากพลังความคิดสู่....เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Transforming Thai Society with Creativity) บรรยายโดย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน)
Presentation เรื่อง “การชี้แจงแนวทางการระดมความเห็นกลุ่มย่อย จากพลังความคิด...สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” บรรยายโดย รองเลขาธิการ สศช. (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ)

Presentation การระดมความเห็นกลุ่มย่อย
กลุ่มที่ 1:“วัฒนธรรมสร้างค่า ภูมิปัญญาสร้างไทย” (ด้านมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม)
กลุ่มที่ 2:“ออกแบบนำคุณค่า พัฒนางานฝีมือไทย” (ด้านอุตสาหกรรมช่างฝีมือ สินค้าเชิงสร้างสรรค์และออกแบบ)
กลุ่มที่ 3:“ผสานสื่อ สาระและบันเทิง เบิกทางเศรษฐกิจใหม่” (ด้านอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง และซอฟท์แวร์)

http://www.unctad.org/en/docs/ditc20082cer_en.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น