วันพุธที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒

อาภรณ์งาม การพัฒนารูปแบบศิลปะการแสดงร่วมสมัยของพีรมณฑ์ ชมธวัช
















...
ในราวปี 2538 ผมทำสารคดีทางโทรทัศน์ออกอากาศช่อง 9 อสมท. โดยรับหน้าที่ผู้สร้างสรรค์และเขียนบทโทรทัศน์ นำเสนอเรื่องราวของพีรมณฑ์ ชมธวัช (บิ๊ก) ผ่านเรื่องราวของกลุ่มคนทำละครเวทีแนวตะวันตก ภายใต้ผู้อำนวยการสร้าง ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร กำกับการแสดงโดย พี่ตู่นพพล โกมารชุน กำกับดนตรีโดย จิรพรรณ อังศวานนท์ และ สินนภา สารสาส นั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้ผมพบกับบิ๊กเป็นครั้งแรกในฐานนักเต้น หรือ dancer ที่มีความสามารถสูงพร้อมสรรพ์ด้วยพรสวรรค์ จิตวิญญาณ กายและอารมณ์อันงดงามทุกก้าวย่างก้าวบนเวทีการแสดง

จากนั้นหลายสิบปีแล้วที่ไม่พบกันอีกเลย จากวันนั้นถึงวันนี้ สู่เรื่องราวของคณะละครอาภรณ์งาม การหวนคืนสู่รากเหง้าทางวัฒนธรรมศิลปะการแสดงร่วมสมัยของไทย ซึ่งผมชื่มชมด้วยใจจริง จากข่าวคราว ASTV ผู้จัดการออนไลน์เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ความว่า“หากได้ทำในสิ่งที่รัก ชีวิตก็จะมีความสุข” ประโยคนี้คงเกิดขึ้นจริงแล้วกับชีวิตของ พีรมณฑ์ ชมธวัช ผู้ก่อตั้งคณะละครอาภรณ์งาม ซึ่งความสุขที่สุดของเขานับได้จากการทำในสิ่งที่รัก และคงเป็นเรื่องไม่บังเอิญสักนิด ที่ความหลงใหลในศิลปะไทยจะตอกย้ำความเป็นตัวตนของใครสักคนเรื่อยมา ชนิดที่ยอมไม่ได้ถ้าต้องเห็น ของดีที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้จำต้องเลือนหายไปกับยุคสมัยที่ผันผ่านอย่างไม่รู้จักจบสิ้น...

ความรู้สึกชื่นชอบที่มีต่อการเต้นรำฉายชัดมาตั้งแต่เด็ก พีรมณฑ์ย้อนเล่าให้ฟังถึงความสนใจที่มีต่อศาสตร์และศิลป์ของการเต้นรำ ที่เขาใช้เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตเพื่อตามหาในสิ่งที่รักและตั้งใจ“เมื่อรู้ว่าตัวเองมีความสุขกับการได้ทำสิ่งไหน ก็จะทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด บวกกับที่บ้านเลี้ยงมาแบบให้อิสระทางความคิด พอรู้แล้วว่าชอบอะไร จากนั้นก็ตามความฝันมาเรื่อย กลายเป็นเด็กที่บ้าเต้นรำ ทำทุกอย่างเพื่อจะทำฝันที่ต้องการเป็นนักเต้นรำบนเวทีระดับโลกให้เป็นความจริง ซึ่งก็ต้องยอมแลกกับอะไรไปเยอะพอควร กว่าจะไปให้ถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้”

ไม่นานเกินรอ...สิ่งที่ฝันก็ถูกสานต่อไปอีกก้าว เมื่อเขาตัดสินใจพักการเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงทุนบินลัดฟ้าไปเป็นนักเต้นอาชีพที่ฝรั่งเศสราว 2 ปี ณ ที่นั่น มันเป็นมากกว่าการเต้นรำ เพราะไม่เพียงแต่การได้เคลื่อนไหวสรีระตามท่วงทำนองแห่งบทเพลง ทว่า มันเป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ชื่นชอบในเชิงศิลปะได้อย่างล้ำลึกจากประสบการณ์ตรง จนสามารถค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับการเต้นรำแบบไหนมากที่สุด แล้วคำตอบก็คือ การเต้นรำแบบร่วมสมัย ลีลาที่เขาถนัดยิ่งนักในการแสดง จนฝรั่งยังเอ่ยปากชม ก่อนจะกลับมาจัดการกับศิลปะนิพนธ์ ซึ่งมีโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องการเผยถึงความเป็นตัวตนของเขาเองรออยู่ จนเกิดคำถามให้ต้องทำอะไรสักอย่างว่า... แล้วจะทำอย่างไรให้งานของตัวเองออกมาร่วมสมัยแต่ไม่ไร้จุดยืน ?

“บ้าฝรั่งมานาน พอต้องหาความเป็นตัวเองขึ้นมา ผมนึกถึงคำพูดของ อ.บัญชา สุวรรณานนท์ คนที่สอนผมเต้นรำมาตั้งแต่เด็ก ที่พยายามบอกผมมาตลอดว่า จะไปเต้นที่เมืองนอกได้ยังไง ถ้าเอาวิชาของฝรั่งไปเต้นให้ฝรั่งดู ความรู้มันเป็นของเขา คงไม่ต่างอะไรกับเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน จากตรงนั้นจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนความคิด กระตุ้นให้เรากลับมาศึกษารากของความเป็นไทยและหาจุดยืน เดินออกจากอาการเห่อฝรั่งแบบสุดขั้ว ทั้งที่ก็เก็บเกี่ยวความรู้ของตะวันตกมามากพอ”

เมื่อลู่ทางความคิดมุ่งตรงไปหารากเหง้า ศิลปะนิพนธ์ในหัวข้อ การนำท่ารำแม่บทเล็กมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบและกระบวนการของการเต้นรำร่วมสมัย ก็ลุล่วงไปอย่างชื่นใจ กลายเป็นจุดเริ่มของกรอบแนวคิดที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า... นาฏศิลป์ร่วมสมัยก็สามารถมีแก่นแท้ที่เป็นไทยได้ อย่างลงตัว ในท่ามกลางความโมเดิร์นจากโลกตะวันตกที่กำลังไหลบ่าเข้ามาอยู่ไม่ขาด
...
“ผมยังคงมีความสุขกับไลฟ์สไตล์ที่สนใจแฟชั่นใหม่ๆ ยังเคารพวิชาความรู้ที่เป็นตะวันตก แลจะไม่ปฏิเสธว่างานของเขาไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ดูถูกของของเรา ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์แบบหัวชนฝาหรอก ผมถือว่าผมเป็นศิลปินร่วมสมัยที่ไม่ปฏิเสธของเก่านะ ซึ่งบางคนอาจจะไม่คิดแบบนั้น แต่ถ้าให้พูดถึงความร่วมสมัย สำหรับผมถ้าคิดจะทำงานใหม่ๆ ขึ้นมา ด้วยการทิ้งของเก่าไปเลย...มันจะไม่ลึก เพราะทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไป ซึ่งการเข้าถึงรากเหง้าอย่างแท้จริง จะทำให้ความแปลก หรือความแหวกแนว ที่เข้าใจกันว่าเป็นความร่วมสมัย มันจะเป็นไปได้อย่างเข้าใจและยั่งยืน เพราะรู้ว่ารากมันมาจากไหนและผ่านอะไรมาแล้วบ้าง”










...
ด้วยการตกผลึกทางความคิด จนเกิดมุมมองที่ลึกลงไปถึงมิติอันหลากหลายในทุกองค์ประกอบของการแสดงนี้เอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของคณะละครที่เขาอำนวยการมาตั้งแต่ปี 2546 จนปัจจุบัน เป็นทั้งผู้กำกับ ออกแบบอาภรณ์ คัดเลือกผู้แสดง พัฒนาวิธีการนำเสนอ ไปจนถึงการจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยอย่างไรให้สวยงามและได้มาตรฐานสากล หรือถ้าถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน เขาบอกว่า “คือการทำการแสดงนาฏศิลป์ไทยอย่างไรให้เนี้ยบที่สุด” เพราะองค์ประกอบทั้งหมดตั้งแต่ เสื้อผ้า การแสดง แสง ระบบเสียง และสถานที่ที่จัดแสดง มันแทบจะแยกกันไม่ออก และเขาคนนี้ก็ต้องจัดการให้มีความเป็นมืออาชีพอย่างที่ระดับสากลเขาทำกันให้ได้

“คณะละครอาภรณ์งาม เป็นชื่อที่ชอบ และสื่อความหมายได้ตรงใจเอามากๆ” เขาบอกว่า เพราะเป็นความตั้งใจส่วนตัวที่ต้องการโชว์ชุดสวยๆ จากการปักร้อยด้วยฝีมือทั้งหมด ซึ่งถูกจุดประกายโดย อ.บัญชา (คนเดิม) ผู้เข้ามากระตุกให้ฉุกคิดถึงอาชีพที่สองไว้รองรับ หากว่าวันข้างหน้าจะไม่สามารถเต้นรำได้อีกแล้ว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ ความสนใจตรงนี้ยังช่วยต่อสายป่านให้เครื่องละคร ซึ่งเป็นความงดงามแบบไทยจะไม่โดนถอนรากไปจากเดิมที่เคยมี

“ที่จริงเรื่องการแต่งกายมันอยู่ในความสนใจของผมนานแล้ว เพราะเป็นคนชอบแต่งตัวและคุ้นเคยกับเสื้อผ้าที่ใช้เต้นรำมาเยอะ จึงทำให้รู้ว่า ที่ผ่านมาการสร้างเสื้อผ้าสำหรับการเต้นรำมักจะไม่ได้ใช้เทคนิคที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของนักแสดงสักเท่าไหร่ แม้แต่ชุดโขน ที่เห็นกันอยู่ ก็เป็นงานตัดเย็บหยาบๆ และยังไม่ดีที่สุดสำหรับผู้แสดง ก็เลยตัดสินใจมาทำเองดีกว่า อาศัยเรียนรู้จากข้อผิดพลาด สักพักก็ไปขอเรียนการตัดเย็บกับคุณป้าสปัน เธียรประสิทธิ์ (อดีตดีไซเนอร์ชื่อดัง) เรียนจนเริ่มชำนาญในการทำเสื้อผ้าโบราณแบบตะวันตก ซึ่งตอนนั้น ผมเองก็เริ่มสนใจ (อย่างมาก) ที่จะทำเสื้อผ้าเครื่องละครไทยแล้วล่ะ”

จากงานปักเสื้อผ้าละครไทยชิ้นเล็กๆ ที่นำมาประกอบการเต้นรำร่วมสมัย ลงทุนศึกษาเชิงวิจัยมรดกของชาติ ด้านเครื่องละครอย่างจริงจัง จนสามารถสร้างชุดละครให้ตัวพระ ตัวนาง ได้สำเร็จตามรูปแบบ สีสันและลวดลายที่ถูกต้องแบบต้นฉบับโบราณ ก็ยิ่งทำให้ความตั้งใจที่อยากจะเห็นการเผยแพร่เครื่องละครไทยต่อสาธารณชน ถูกสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม

มันชื่นใจนะ ที่เราสามารถนำภาพเก่าๆ กลับมาสู่โลกปัจจุบันได้ ได้เห็นสิ่งที่ทุ่มเทไปเคลื่อนไหวอยู่บนตัวนักรำ แล้วเราก็นั่งสังเกตว่าปฏิกิริยาของคนดูเป็นยังไง ชื่นชอบมันขนาดไหน มันเป็นความสุขซ้อนความสุข คือ ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาชื่นชอบและซาบซึ้งไปกับงานของเรา ความสุขนั้นก็จะส่งต่อมาถึงผมด้วย อีกอย่างคือ รสนิยมดีๆ เกี่ยวกับนาฏศิลป์ของไทย ดูเหมือนต้องอาศัยเวลาในการซึมซับสิ่งเหล่านี้ แต่ผมก็เชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้จริง”

ท่ามกลางความร่วมสมัยแห่งยุค ชายหนุ่มยังคงสุขใจกับสิ่งที่ได้ทำ พีรมณฑ์บอกว่า แม้ตอนนี้ เด็กๆ ในคณะละครจะยังไม่อาจทำได้เหมือนที่เขาทำ แต่อย่างน้อยความสุขใจที่ได้ส่งต่อความคิดร่วมสมัยให้เคียงคู่กับศิลปะไทย ก็ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตราบเท่าที่เรี่ยวแรงจะยังมี... เขาสัญญา

ผมคิดว่าอีกไม่ช้าผมจะเชิญบิ๊กเข้าร่วมโครงการวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม "วัฒนธรรมของภาพยนตร์ร่วมสมัย:สัมพันธบทและแนวทางการพัฒนาภาพยนตร์หลังสมัยใหม่ของศิลปินศิลปาธร" หวังว่าคงจะได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น