วันอังคารที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒

เพลานี้ Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์)



















...............................................
ในปัจจุบันคำที่ใช้กันมากและอาจสร้างความสงสัยให้ผู้คนได้ไม่น้อยก็คือคำว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่รู้จักใช้คอนเซ็ปท์ Creative Economy (CE) ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกในรูปของภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลง นักร้อง แฟชั่น การท่องเที่ยว ศิลปะการแสดง อาหาร ฯลฯ ซึ่งสร้างการจ้างงานและรายได้อย่างมหาศาลเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม ความหมายอย่างง่ายของ CE ซึ่งให้โดย John Hawkins (ในหนังสือชื่อ The Creative Economy : How People Make Money From Ideas ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC) ก็คือ "การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์" สาขาการผลิตที่พัฒนาไปสู่ CE จะเรียกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries หรือ CI) ซึ่งหมายถึงกลุ่มกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญ

ความสำเร็จของอังกฤษและเกาหลีใต้ในการพัฒนา Creative Economy ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรือเพียงเพราะรัฐบาลนำเงินงบประมาณมหาศาลมาสนับสนุนให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหลายได้เติบโต แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Creative Infrastructure) ในการเติบโตของทั้งสองประเทศนี้ก็คือ หลักสูตร “วัฒนธรรมศึกษา” ที่มุ่งเน้นการศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมร่วมสมัยและวิถีชีวิตของกลุ่มคนต่างๆในสังคม ซึ่งแม้ว่าในจุดเริ่มต้นจะเป็นเพียงการวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย แต่สุดท้าย “รากฐานความรู้” ที่บ่มเพาะมายาวนานนับสิบปีนี้เอง ได้ถูกนำมาใช้ต่อยอดในการพัฒนา Creative Product ของธุรกิจสร้างสรรค์ทั้งหลายให้มีความโดดเด่นหลากหลายและสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคนในชาตินั้น

สำหรับประเทศไทย ได้มี “หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา” มาหลายสิบปี แต่เนื่องจากปัญหาหลายๆประการ จึงทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็น Creative Infrastructure เพื่อสนับสนุนการเติบโตของ Creative Economy ได้ ครั้นจะกลับไปแก้ไขที่หลักสูตร ก็คงจะติดปัญหาวุ่นวายไม่จบสิ้น และหากทำสำเร็จก็คงจะชักช้าไม่ทันการ เนื่องจากว่า “วัฒนธรรมศึกษา” เน้นไปที่ความแม่นยำทางวิชาการและยังมีขอบเขตการศึกษาที่กว้างขวางครอบคลุมมากเกินไป จึงย่อมไม่สามารถพัฒนาให้สำเร็จได้ในช่วงเวลากระชั้นสั้น

สังคมไทยได้ถูก “เครื่องจักรและเทคโนโลยี” ควบคุมบัญชามาหลายสิบปีแล้ว ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ Creative Economy ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยมีเครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้มนุษยชาติที่หลากหลายด้วยอารมณ์ ความรู้สึก คุณค่า ความเชื่อ และวิชาชีพ ได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสร้างสรรค์ลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่การผลิต Creative Product ที่ไม่ได้ให้คุณค่าทางวัตถุแต่เพียงเท่านั้น หากยังหยั่งลึกลงไปถึงจิตใจอันละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์อีกด้วย













............................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น