วันเสาร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

อาลัยรศ.สมเกียรติ ตั้งนโม

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันนี้ (6 ก.ค. 53) ด้วยวัย 52 ปี โดยก่อนหน้านี้ รศ.สมเกียรติ เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (รพ.สวนดอก)

รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นนักวิชาการด้านศิลปร่วมสมัยและสุนทรียศาสตร์ สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากรเมื่อปี 2522 ต่อมาสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2528 และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2533 เริ่มเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตำแหน่งอาจารย์ประจำ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2535
ต่อมาในปี 2543-2544 เป็นหัวหน้าสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ ในปี 2547 เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิจิตรศิลป์ และเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ในปี 2540 รศ.สมเกียรติ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายทางวิชาการที่ชื่อ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ http://www.midnightuniv.org/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการบทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน

สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ
เรื่อง : อุทิศ อติมานะ

ชีวิตนั้นไร้สาระ ว่างเปล่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านมา ที่เหลืออยู่เป็นเพียง “ความทรงจำ” เกี่ยวกับการกระทำที่ผ่านมาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ สมเกียรติ ตั้งนโม อีกชีวิตหนึ่งที่จากไป แต่ก็ยังอยู่ใน “ความทรงจำสาธารณะ” ที่สำคัญอีกบทหนึ่งของสังคมไทย เป็นความทรงจำสาธารณะถึงชีวิตหนึ่งที่มีอุดมการณ์เพื่อ “ผลประโยชน์สาธารณะ” มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท มีวินัยอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตที่ผ่านมา ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เสมอภาค ความไม่รู้ ความไม่ยุติธรรม ความไม่ชอบธรรม ฯลฯ ในสังคมไทยและโลก ดูเหมือนว่าพันธกิจนี้จะยังคงเป็น “งานที่ไม่เสร็จ”

ความเป็นสมเกียรติ ตั้งนโม เริ่มต้นจากความไม่เสมอภาค ความไม่รู้ ในวงการศิลปะ จากปัญหาดังกล่าวผลักดันเขาให้สร้างสรรค์ผลงานแปล เรียบเรียง และบทความ เกี่ยวกับความรู้ขั้นสูงร่วมสมัยในศาสตร์ศิลปะและสาขาที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างมากมาย ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า ความคิดเชิงวิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม ชอบธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงปราศจากความรอบรู้ในศาสตร์ขั้นสูงสาขาต่างๆ ซึ่งความรู้เหล่านั้นส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้เป็นนักแปลมืออาชีพก็ตาม หรือแม้ว่าเขาจะไม่เคยได้รับค่าจ้างแปลใดๆ ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เขาสามารถผลิตผลงานแปลและเรียบเรียง หนังสือวิชาการขั้นสูงในสาขาต่างๆ มากมายกว่าร้อยเล่มอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มจากการแปลและเรียบเรียงตำราวงการศิลปะ ค่อยๆก้าวมาสู่การเขียน การแปล และเรียบเรียงตำราในวงการมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น