วันศุกร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ศิลปะและสุนทรียภาพหลังสมัยใหม่:ในบริบทสื่อศิลปะการศึกษาขั้นสูงกับสื่อศิลปะ

อุทิศ อติมานะ : สาขาสื่อศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาขั้นสูง ในบริบทสื่อศิลปะ 3 หัวข้อ
1) สื่อศิลปะคืออะไร ? เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะร่วมสมัยอย่างไร ? ช่างและศิลปินต่างกันอย่างไร ?
2) การวิเคราะห์เบื้องหลัง “ทำไมต้อง สื่อศิลปะ ? “ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้โลกตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค
3) “อะไรคือสิ่งท้าทาย ?” ในบริบทสื่อศิลปะ เช่น หลักการเป็นศิลปินร่วมสมัย ประสบการณ์ทางสื่อศิลปะ ? บทบาทของภัณฑารักษ์ในบริบทสื่อศิลปะ การปรับตัวของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ รวมทั้งการตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันว่า ควรปรับตัวอย่างไรในบริบทสื่อศิลปะ ?

1). สื่อศิลปะคืออะไร ?
กล่าวได้ว่า คือส่วนหนึ่งของกระบวนการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่สังคมสมัยใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกประเทศ ถือเป็นวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ สื่อศิลปะคือส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับตัวของศิลปะสมัยใหม่ ที่เริ่มก่อตัวราว 100 ปีที่ผ่านมาและขยายอิทธิพลไปทั่วโลกในยุคล่าอาณานิคม. สำหรับในส่วนของ”สื่อศิลปะ“ เป็นวิชาการใหม่ที่เกิดขึ้นราว 20 – 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ เริ่มเกิดประเด็นทางวิชาการขึ้นมา แล้วมีน้ำหนักมากขึ้นๆ จนกลายเป็นวิชาการกระแสหลัก มันกลายเป็นวาระระดับวัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ เป็นความรู้ที่เราแลกเปลี่ยนกันทั่วโลก ไม่ใช่ความรู้ระดับท้องถิ่นของชาติใดชาติหนึ่งอีกต่อไป

เมื่อพูดถึงศิลปะร่วมสมัยในเอเชียและในประเทศไทย ศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัย หรือ สื่อศิลปะ ยังคงเป็นวัฒนธรรมกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะสังคมไทย ยังคงเป็นความรู้เฉพาะของคนที่สนใจเพียงไม่กี่คน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญน้อยมาก ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่น้อยมาก แม้จะมีกระทรวงวัฒนธรรม ที่รับผิดชอบศิลปะร่วมสมัยก็ตาม แน่นอนว่า ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ฯลฯ เป็นตัวอย่างในทางตรงข้าม ประเทศเหล่านี้เริ่มให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มีการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมาก มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ได้มาตรฐานระดับสากลมากขึ้น ถือเป็นวาระการพัฒนาระดับชาติที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ศิลปะร่วมสมัย หรือสื่อศิลปะในปัจจุบัน ในภาพกว้างยังถือเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลาง แม้แต่สังคมยุโรป อเมริกา หรือที่อื่นๆ มันถูกสร้างอย่างต่อเนื่องผ่านบรรยากาศทางวิชาการตั้งแต่ยุค The Enlightenment ในยุโรป ปรัชญาสมัยใหม่ กว่า 300 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะงานเขียนของ Immanual Kant, Georg W.F.Hegel, Arthur Schopenhauer, Friedrich Nietzsche, Theodor Adorno และคนอื่นๆ ฯลฯ ได้ช่วยวาง “หลักการ” ให้เกิดความรู้สมัยใหม่ และศิลปะสมัยใหม่ในฐานะสถาบันทางสังคมในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อาทิ แนวคิดศิลปินและช่างต่างกันอย่างไร ? หน้าที่ของศิลปินในฐานะนักสร้างสรรค์ (Creators) แสดงเจตจำนงเสรี (Free Will) คิดนอกกรอบ คิดก้าวหน้า (Avant-Gard) นำเสนอทัศนะเชิงวิพากษ์ผ่านผลงานวิจารณ์ศิลปะและสื่ออื่นๆ เสมือนเป็นฝ่ายค้านของอารยธรรมมนุษย์ เปิดเผยทั้ง “ด้ามมืด” และ “ด้านสว่าง” ของความเป็นมนุษย์ มักแสดงออกผ่านปัญหาสังคมในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งความเชื่อในศักยภาพของปัจเจกชนที่สร้างอารยธรรมจากตัวมนุษย์เอง (Humanity Project) ดังนั้น คุณค่าของศิลปะในช่วงนี้จึงเป็นคุณค่าที่สัมพันธ์กับบริบทเฉพาะของยุคสมัย และศิลปะมักเชื่อมโยงกับความรู้เฉพาะของยุคสมัย และมิติเชิงจริยธรรม เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ เริ่มต้นเมื่อราว 100 ปีมานี้เอง หลังจากนั้นจึงเกิดศิลปะในฐานะสถาบันทางสังคมที่มีประวัติศาสตร์ สถาบันดังกล่าวมีพื้นที่เฉพาะของตัวเองผ่านพิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงานศิลปะ(แกลลอรี่) มีสถาบันการสอนศิลปะขั้นสูง เพื่อสืบทอดและเพิ่มเติมสมาชิกใหม่ๆ ทั้งศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ระบบธุรกิจศิลปะ ฯลฯ

ในราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เริ่มเกิดกระแสต่อต้านศิลปะสมัยใหม่ในฐานะสถาบัน ที่ดูเสมือนเป็นศาสตร์ปิดเฉพาะกลุ่ม ไม่มีการปรับตัว ไม่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคมที่หลากหลาย เพราะความเป็นสถาบัน มันกลายเป็นศาสตร์เฉพาะของกลุ่มสนใจเป็นการเฉพาะ จึงเกิดความเคลื่อนไหวของศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 1970s เป็นต้นมาและพัฒนาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แนวคิด Media art, Inter-media, New Media in Art ก็คือส่วนหนึ่งของกระแสแนวคิดหลังสมัยใหม่นั่นเอง

2). ทำไมประเด็นสื่อศิลปะ หรือ“New media”จึงสำคัญ ? อะไรคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำคัญเหล่านั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงเหตุผลอย่างน้อย 5 ปัจจัยด้วยกัน คือ

2.1) การปฏิวัติของดิจิตอลเทคโนโลยี : เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมานี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของสื่อแบบไฮเปอร์เทค (Hyper-text) ซึ่งโดยปกติ สื่อที่ผ่านมา ทั้งรูปภาพ (Picture) กราฟิก (Graphic) ข้อความ (Text ) เสียง (Sound) ต่างแยกกันอยู่ แต่ในยุค New media หรือ Hyper-text สื่อเหล่านี้ถูกทำให้เป็นรหัสดิจิตอลที่มีค่าเป็นกลาง แล้วแปลค่าเหล่านั้นให้กลายสารสนเทศ (Information) ที่หลากหลายรูปแบบ เป็นความจริงเสมือน (Virtuality) ที่ง่ายต่อการส่งต่อแบ่งปันกันทั้งโลก ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ในลักษณะ Non-linear เริ่มที่จุดใดก็ได้ ดูกลับไปกลับมาได้ สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของผู้คนได้อย่างง่ายดายทั่วโลก อิทธิพลของสื่อสารมวลชน หรือวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ถูกลดการผูกขาดและความสำคัญลง การเป็นเจ้าของสื่อเกิดขึ้นง่ายดายมากขึ้น เป็นต้น

ปัจจัยด้านเทคโนโลยีได้สร้างสรรค์รูปแบบความเป็นสังคมใหม่ ตัวอย่างเช่น กลุ่มเกย์เชียงใหม่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มเกย์กรุงเทพฯ นิวยอร์ค์ และลอนดอน ฯลฯ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันเมื่อพวกเขาเห็นว่ามีอุดมการณ์ แนวคิด รสนิยมร่วมกัน โดยไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล เป็นสังคมในแบบโลกาภิวัฒน์ เกิดชนชั้นใหม่ ที่ไม่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก ที่เรียกว่า “นิวอีลีต” (New Elite) เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ได้รับการศึกษาแบบโลกาภิวัตน์ร่วมกันทั้งโลก ตัวอย่างศิลปินร่วมสมัย เรียนรู้จากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับศิลปินนิวยอร์ก ลอนดอน สิงคโปร์ และเซียงไฮ ฯลฯ ได้ แสดงว่ามีความรู้อะไรบางอย่างที่แบ่งปันกันอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะคนในสังคมเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจตัวจริงในสังคมร่วมสมัย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศิลปะวัฒนธรรม เป็นกลุ่มชนชั้นกลางใหม่. ความเป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญทางสังคมวัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลงไป ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ศูนย์กลางความเจริญเมืองใหญ่ มีเฉพาะในยุโรปเช่น ปารีส ลอนดอน เบอร์ลิน ฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายไปสู่อเมริกา ปัจจุบันความเป็นศูนย์กลางทางสังคมวัฒนธรรม ได้ขยายสู่เมืองใหญ่มากขึ้นทั่วโลก ทั้งในอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย เป็นต้น โลกยุคหลังสมัยใหม่ยอมรับความหลากหลายของวิธีคิดเชิงวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น New media ยังสร้างความจริงอีกชนิดหนึ่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นความจริงแบบ Virtual Reality, การทำให้ความรู้กลายเป็น Information รูปแบบต่างๆ การกระจายข้อมูลสำเร็จรูปผ่าน Cyber Space เป็นต้น ที่กล่าวมาเหล่านี้ ช่วยตอกย้ำว่า ประเด็น New media คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับกระบวนทัศน์ทางสังคม ที่มีผลต่อวิถีชีวิตทุกๆ มิติ รวมทั้งการจัดการศึกษาศิลปะยังต้องมีการปรับตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง

2.2 กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่ : โลกวิชาการปัจจุบัน ได้ปรับตัวจากยุคสมัยใหม่เข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern). แนวคิดสมัยใหม่ เชื่อความจริงสากลผ่านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มีการจัดหมวดหมู่ความรู้เป็นกลุ่มๆ (categorized) เชื่อในความต่อเนื่องของวิวัฒนาการ ความก้าวหน้า เหตุผลเชิงประจักษ์ ผลิตแนวคิดในแบบอาณานิคม รวมทั้งผลิตศิลปะสมัยใหม่ในฐานะสถาบันที่เป็นพื้นที่พิเศษเฉพาะ มีประวัติศาสตร์ และหลักปรัชญาของตนเองที่ใช้อ้างอิงคุณค่าจากตัวสถาบันเอง

โลกวิชาการช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวสู่กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่ โดยเฉพาะปรัชญาหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) เกิดศาสตร์ที่เรียกว่า”สัญศาสตร์”(Semiotics)ขึ้น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนศิลปะ ซึ่งทำให้เราเข้าใจภาษาและการสื่อสารความหมายทั้งที่เป็นทางการในสื่อประเภทต่างๆ ในผลงานศิลปะ และในชีวิตประจำวันผ่านการถอดระหัส รวมทั้งการวิเคราะห์โครงสร้างและความหมายแฝงต่างๆ (Connotation Level) ของแต่ละสังคมวัฒนธรรม ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะความหมายที่ซ่อนนัยะต่างๆ เพื่อให้ศิลปินและผู้คนทั้งหลายสามารถเข้าใจสังคมได้ลึกซึ้งมากขึ้น

นอกจากนั้น สมมุติฐานเกี่ยวกับความจริงคืออะไร ? (Ontology) ก็เปลี่ยนไป โลกยุคใหม่เราเชื่อว่าความจริงเป็นระบบสัมพัทธภาพที่มีบริบทเฉพาะ สังคมคือพื้นที่แลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ตายตัว (Symbolic Interactionism) และการวิเคราะห์สังคมแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นแบบ Karl Marx ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดการวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรม อาทิ Michel Foucault ที่เสนอวิธีการวิเคราะห์สังคมแบบ “วาทกรรมและอำนาจ” (Discourse and Power) อธิบายและวิจารณ์การต่อสู่ทางสังคมเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนเป็นกลุ่มๆ ระหว่างกระแสหลัก กระแสรอง

นอกจากนั้น แนวคิดของ Jacques Derrida ยังทำให้เราเห็นว่ามนุษย์ทุกวันนี้ เข้าใจสรรพสิ่งผ่านการเปรียบเทียบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) เรารู้จักความแข็งเพราะเราเปรียบเทียบกับความอ่อน ความคิดของมนุษย์ทุกวัฒนธรรม (โดยเฉพาะวิชาการตะวันตก) ล้วนถูกขังอยู่กับวิธีคิดแบบขั้วตรงข้าม จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน เรายอมรับความแตกต่างมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างคือธรรมชาติของอารยธรรมมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ เอามาไว้ใกล้ตัว และทำให้คนทั้งหลายที่มีความแตกต่างมีที่อยู่ที่ยืน ซึ่งเป็นอุดมคติของสังคมหลังสมัยใหม่ ก่อให้เกิดการศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มวัฒนธรรมย่อย เช่นตัวอย่างการศึกษา ประเด็นเพศสภาพ คนชายขอบ และวิถีวัฒนธรรมยุคหลังอาณานิคม ฯลฯ

เหล่านี้เป็นตัวอย่างบรรยากาศทางวิชาการที่เปลี่ยนไป และกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาทางมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปรัชญา รวมทั้งประเด็นสื่อศิลปะ ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกต้องปรับตัว

2.3 ระเบียบโลกใหม่ทางเศรษฐศาสตร์กิจการเมือง : ความเป็นโลกาภิวัตน์ทำให้การแข่งขันในโลกมีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นแต่ละประเทศในโลกต้องมีทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ ที่มีศักยภาพและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Adventage) ตามแนวคิดของ Michael E. Porter โลกยุคหลังสมัยใหม่ก้าวสู่โลกของการแข่งขันภายใต้กติกา เศรษฐกิจ เสรีนิยมใหม่ ธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การแข่งขันในตลาดเสรี เป็นโลกที่เราจะต้องมีความสามารถเฉพาะ (Core Competency) ต้องรู้ว่าเรามีความสามารถด้านใดที่ผู้อื่นแข่งขันด้วยยาก เป็นความพิเศษที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระยะยาวจึงได้มา และความสามารถพิเศษนั้นต้องเป็นความต้องการของสังคม (Customer Value) ตรงกับยุคสมัย เราต้องมีระบบการจัดการองค์กรที่ดี ยั่งยืน มีระบบการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ตรงกับความต้องการของสังคมแต่ละบริบท มีการสื่อสารชื่อเสียงและความสามารถขององค์กร ของประเทศอย่างต่อเนื่อง มีความคงเส้นคงวา เพื่อสร้างชื่อเสียง เครดิตความน่าเชื่อถือหรือ Branding เพื่อรักษาสมรรถนะการแข่งขันที่ยั่งยืน เป็นต้น

ในวงการการศึกษาขั้นสูงในประเทศโลกที่หนึ่ง แนวคิดของ Michael E. Porter ถูกนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีขนาดเล็กลง ปรับตัวเร็วตามยุคสมัย มีจุดเน้นว่าจะเน้นความสามารถด้านใดที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ซ้ำซ้อนกับคู่แข่ง เป็นไปได้จริง เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีประเด็นการวิจัยเฉพาะทาง จัดการเรียนการสอนแบบ Research Lab มีประเด็นการวิจัยชัดเจน กำหนดโดยองค์กรไม่ใช่ผู้สอนกำหนดเองตามความสนใจส่วนตัว นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าต้องการเป็นผู้รู้ในขอบเขตวิชาการที่เกี่ยวเนื่องด้านไหน ? มีการผสมผสานศาสตร์ต่างๆ ภายใต้หัวข้อวิจัยมากยิ่งขึ้น อาทิ มหาวิทยาลัย MIT Media Lab, Harvard Design School, University of Chicago เป็นต้น

2.4 การปฏิวัติทฤษฏีสุนทรียศาสตร์ : มีนักสุนทรียศาสตร์ ยุคหลังสมัยใหม่ 2 ท่านที่น่าสนใจ และน่าจะมีผลโดยตรงต่อประเด็นสื่อศิลปะ คนแรกคือ Arthur C. Danto เขาพูดถึงจุดจบของศิลปะร่วมสมัย (The end of art) โดยยกตัวอย่างผลงานของ Andy Warhol เขาตั้งคำถามว่า เมื่อวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวันคือศิลปะ (Ordinary Object is Art) ทั้งสองอย่างดูไม่แตกต่างกัน แล้วความสำคัญของศิลปะอยู่ตรงไหน ? เขากำลังตั้งคำถามกับความพยายามของศิลปินหลังสมัยใหม่ ที่พยายามทำลายข้อจำกัดของศิลปะสมัยใหม่ โดยเชื่อมโยงศิลปะกับเรื่องราวทางวัตถุและมิติทางสังคมต่างๆ รอบตัว

สำหรับผลงานเขียนที่ชื่อ Relational Aesthetic ของ Nicolas Bourriaud ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1996 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เขาชี้ให้เห็นว่า ยุค New Media สร้างสังคมสารสนเทศ ความง่าย การมีส่วนร่วม การเปิดกว้างสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ฯลฯ ปัจจัยเหล่านั้นทำให้หลักการศิลปะเปิดกว้างอย่างยิ่ง หน้าที่ของศิลปินกลายเป็นผู้สร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมในพื้นที่สาธารณะในมุมมองเล็กๆ ผู้ชมศิลปะร่วมสรรค์สร้างความหมายเชิงวัฒนธรรมด้วยตัวเองจากการมาร่วมกิจกรรม ศิลปะอยู่ในประสบการณ์จริง เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลงานของศิลปินไทย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช จะเห็นว่า ทั้ง 2 ตัวอย่างที่ยกมาในที่นี้ ก็เพื่อตอกย้ำว่า ศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยปัจจุบันได้ปรับตัวครั้งใหญ่ ทุกๆ สื่อรอบตัว สามารถนำมาประยุกต์เป็นผลงานหรือกิจกรรมในนามศิลปะได้ และศาสตร์ศิลปะปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยกรอบทฤษฏีจากศาสตร์อื่นๆ มาช่วยมองด้วย เพราะแนวโน้มของศาสตร์ศิลปะเปิดกว้างสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น

2.5 ประวัติศาสตร์ศิลปะหลังสมัยใหม่ : จะเห็นว่า คำถามและความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านข้อจำกัดของศิลปะสมัยใหม่ในฐานะสถาบัน เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านศิลปะแนว Performance Art, Environmental Art, Conceptual Art รวมทั้ง Media Art ด้วย ขอย้ำว่า Media art ไม่ใช่ Mixed media ไม่ใช่เทคนิค Collage หรือเทคนิค Assemblage หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงการเพิ่มสื่อใหม่ เครื่องมือดิจิตอลเทคโนโลยี หรือเทคนิคใหม่ๆ เท่านั้น อันที่จริงแล้วคือการเปลี่ยนแปลงระดับ “วิธีคิด” ทั้งในมิติของเวลา พื้นที่ และบริบท สู่ความเป็น Non-linear แนวคิดการต่อต้านข้อจำกัดของศิลปะสมัยใหม่ ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับมิติทางสังคมน้อยมาก ดังนั้นสื่อศิลปะในที่นี้อาจใช้ทั้งสื่อดั้งเดิม และ/หรือ สื่อใหม่ก็ได้ เพราะหัวใจของศิลปะร่วมสมัยคือแนวคิดไม่ใช่เรื่องของเทคนิค หน้าที่ของ”ศิลปิน”ไม่ใช่”ช่างฝีมือ” แต่เป็นนักคิด นักปฏิบัติการเชิงวัฒนธรรม เรามีประเด็นสำคัญที่จะพูดกับสังคม เรื่องช่างเป็นเรื่องเสริม เรื่องของ Media art education ได้ขยับขยายไปถึง “วิธีวิทยาของศิลปะ” ที่เปิดกว้างมากขึ้นตามลำดับ

ศิลปินชาวเดนมาร์คกลุ่ม Superflex (*) น่าจะเป็นตัวอย่างกรณีนี้ได้ พวกเขานำเทคโนโลยีทางการเกษตรเรื่องการทำ Bio-gas มาทำให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลกในฐานะเป็นสื่อกลาง (ศิลปะ ?) เพื่อสร้างการมีส่วนรวม และตั้งคำถามกับโครงสรางทางเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมโครงการคือผู้ผลิตความหมายเชิงศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไม่ใช่ศิลปิน หรือผลงานอีกหนึ่งตัวอย่าง พวกเขาสร้างระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับชุมชนต่างๆ จากทั่วโลก ที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน ได้มีโอกาสสร้างชุมชน Online ขึ้น ผู้ชมหลายคนมองว่าผลงานของกลุ่ม Superflex ดูไม่แตกต่างจากกิจกรรมของ NGO เลย นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าศิลปะร่วมสมัย เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสตร์ วิธีการ และความเป็นไปได้เชิงรูปแบบศิลปะที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ผู้ชมต้องอาศัยกรอบทฤษฏีจากศาสตร์อื่นๆ มาช่วยวิเคราะห์ด้วย นี้คือบรรยากาศศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของ New media Art ในปัจจุบัน

(*)The Danish artists' group (Jakob Fenger, Rasmus Nielsen and Bjonstjerne Christiansen) has been working together since 1993 on a series of projects related to economic forces, democratic production conditions and self-organisation. The artists have examined alternative energy production methods and commodity production in Brazil, Thailand and Europe in their projects, which both expose and question the existing economic structures. These artistic activities — as, for example, the on-going project Guarana Power, in which the artists developed a drink together with local farmers who cultivate the caffeine-rich berries of the guarana plant — are not necessarily opposed to commercialism and globalisation, but try instead to render economic structures visible and to establish a new balance.

Superflex describe their projects as tools, as proposals that invite people to actively participate in and communicate the development of experimental models that alter the prevailing economic production conditions. The projects are assisted by experts who bring in their respective special interest, these tools can then be further utilized and modified by their users.

ในงานสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นงานประชุมวิชาการด้านสื่อศิลปะโดยตรง ชื่องาน International Symposium on Electronic Art ครั้งที่ 14 ระหว่าง 25 สิงหาคม - 3 กันยายน 2008 ที่ผ่านมานี้ สามารถสังเกตเห็นแนวคิดที่แตกต่างจากการประชุมครั้งนี้ได้ 2 แนวคิด

แนวคิดกลุ่มแรก เชื่อว่านิยาม Media art เป็นเรื่อง Scientific Approach ขั้นสูง การจะเป็นศิลปินสื่อศิลปะ จะต้องไปเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งประเทศโลกที่หนึ่งส่วนใหญ่ จะมีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจยุคใหม่ ต้องแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ อาทิประเด็นเรื่อง นาโนเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น เมื่อวิจัยไปได้ระดับหนึ่ง สถาบันวิจัยเหล่านั้นต้องการเปิดตัวความสำเร็จของพวกเขา จึงได้มีการเชื้อเชิญ ศิลปินสื่อศิลปะมาทำงานร่วมกันกับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ฯลฯ ของศูนย์วิจัย ร่วมกันทำงานเป็นทีมในฐานะโครงการชั่วคราวด้านสื่อศิลปะ เพื่อสื่อสารประเด็นทางวิชาการใหม่ๆ ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาแรงอย่างมากในประเทศโลกที่หนึ่ง

แนวคิดกลุ่มที่สอง นิยามสื่อศิลปะเน้น “วิธีคิด” ในการทำศิลปะ เชื่อว่าศิลปินใช้สื่อหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ตาเห็น (Visual Space) อาจเป็นกลิ่น เสียง สัมผัส ฯ เน้นการรับรู้จากประสบการณ์โดยรวม (Multiple Senses) มากยิ่งขึ้น และศิลปินพยายามเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ (Multi-disciplines) เชื่อว่างานศิลปะที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่เป็นวิธีคิดที่สำคัญ นำเสนอความคิด ความเชื่อ อุดมคติ เป็นประเด็นสำคัญต่อสังคม โดยประยุกต์ใช้สื่อต่างๆ รอบตัวในสังคมร่วมสมัย รวมทั้ง New media เพื่อที่จะสื่อสารความคิดของตนเองอย่างตรงประเด็น น่าสนใจต่อผู้คนร่วมสมัย

สรุปในประเด็นที่สอง กล่าวคือ ทั้ง 5 ปัจจัยที่นำเสนอน่าจะตอบคำถามได้ว่า “ทำไมสื่อศิลปะจึงเป็นประเด็นสำคัญ”

(ก) เพราะผู้คนปัจจุบัน คุ้นเคยกับวิถีชีวิตภายใต้สังคมสารสนเทศ สื่อแบบ Virtuality การใช้สื่อที่ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลายมากขึ้นทั้ง เสียง ภาพ ข้อความ ทั้งสื่อแบบประเพณีและสื่อใหม่

(ข) เพราะสังคมร่วมสมัยกลายเป็นสังคมโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายทางสังคมมากยิ่งขึ้น ชนชั้นกลางคือนักสร้างสรรค์ Life Style ที่หลากหลาย อีกทั้งเครื่องมือเชิงทฤษฏีในการวิเคราะห์สังคมก็เปลี่ยนแปลงสู่การวิเคราะห์ “วาทกรรมและอำนาจ”

(ค) เพราะการสรรค์สร้างองค์กรปัจจุบันทุกระดับ จะต้องมีตำแหน่งที่แน่นอนว่าตนมีความสามารถทางด้านใด ? เพื่อให้เป็นประเทศ องค์กรหรือตัวตนที่แข่งขันได้ สามารถสร้างนวัตกรรมให้กับโลก มีคุณค่าและศักดิ์ศรี

(ง) เพราะศาสตร์ศิลปะปัจจุบัน มีแนวโน้มเปิดกว้างสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวิชาการ มีความเป็นสหวิทยาการมากขึ้น ทั้งในเชิงทฤษฏีและปฏิบัติการ ทั้ง 5 ปัจจัยนี้ น่าจะยืนยันอย่างชัดเจนว่า ทำไมสถาบันการศึกษาศิลปะทั้งโลกต้องตื่นตัวในการปรับตัวครั้งใหญ่นี้

3). ความท้าทายของยุคสมัยรอเราอยู่ข้างหน้า
สื่อศิลปะ หรือ New Media เป็นประเด็นวิชาการที่เปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ทางสังคม และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตผู้คนโดยรวม ทั้งวงการศิลปะและวงการอื่นๆ. สำหรับวงการศิลปะร่วมสมัย ขอยกตัวอย่างประเด็นท้าทายในที่นี้ เช่น

วิถีทางการเป็นศิลปินร่วมสมัย หรือศิลปินสื่อศิลปะ จะต้องมีการปรับตัว พัฒนาทักษะการประยุกต์ และการผสมผสาน สื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสที่หลากหลาย มากกว่าใช้สายตาเท่านั้น ทักษะการวิเคราะห์สังคมเราต้องยิ่งมีมากขึ้น เพราะระบบสังคมยุคโลกาภิวัฒน์มีความซับซ้อน ถ้าเราไม่รู้ในศาสตร์อื่น ๆ ไม่มีทางที่จะถอดรหัส (Decode) ความซับซ้อนของสังคมร่วมสมัยออก รวมทั้งการมีทักษะด้านสื่อใหม่ ไม่เช่นนั้นจะตกสมัย ในขณะที่อนาคตทุกอย่างเป็นระบบดิจิตอล ระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น Hyper-text เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องสนใจ เพราะนั่นคือวิถีชีวิตร่วมสมัยของทุกๆ คน

ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ สื่อศิลปะสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง ผู้ชมมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ความหมายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ใช้ประสาทสัมผัสการรับรู้ที่หลากหลาย ผสมผสานกัน ผู้ชมเลือกรับประสบการณ์อย่างอิสระ เป็น Non-linear ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพมีลักษณะเป็นความจริงเสมือน (Virtuality) และสร้างประสบการณ์ร่วมได้ทั้งโลก ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ภัณฑารักษ์สื่อศิลปะ (Curators) จะต้องปรับตัว การจัดการนิทรรศการแบบสื่อศิลปะ (New media Management) ย่อมมีความสลับซับซ้อน มีรายละเอียด มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีต่างๆ การใช้งบประมาณ ฯลฯ ที่มีลักษณะเฉพาะของปัญหา. ศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ เปิดกว้างสู่การใช้พื้นที่สาธารณะทางสังคม หรือบางนิทรรศการถูกจัดโดยภัณฑารักษ์โดยตรง เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ต้องมีการปรับตัว ภายใต้วิธีวิทยาการเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยแนวใหม่ ที่เน้นการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงการวิจารณ์ (Critical Discourse Analysis) ไม่เหมือนกับวิธีเขียนประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นความเป็นเอกเทศของวงการศิลปะ เป็นประวัติศาสตร์ของสไตล์ทางสุนทรียศาสตร์ ในยุค 100 ปีที่แล้ว ที่เรียงลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสไตล์เฉย ๆ แต่ยุคนี้ได้ลงไปวิเคราะห์กระบวนการความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ทำให้เราเห็นว่า แนวคิดของศิลปะมีหลากหลาย คุณค่าศิลปะสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางสังคมในแต่ละช่วงเวลา

สถาบันการศึกษาศิลปะขั้นสูง ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ อาทิ จะสร้างนักศึกษาที่มีทักษะทั้งวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมได้อย่างไร ? เครื่องมือ วิธีการสอน พื้นที่ องค์ความรู้ที่เปลี่ยนไปกว้างขึ้น จัดหมวดหมู่ความรู้ยากขึ้น และจะปรับตัวอย่างไร ? ความสัมพันธ์ระหว่างการสอนภาคทฤษฏีและปฏิบัติการควรปรับสัดส่วนอย่างไร ที่ทำให้นักศึกษารู้เท่าทันโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น ? การจัดการองค์กรที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์การจัดการสมัยใหม่ควรทำอย่างไร ? การเลือกตำแหน่งความสามารถของแต่ละสถาบันซึ่งสอดคล้องกับต้นทุนทางสังคม-วัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ แต่ละส่วนมีศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวอย่างไร ? เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่สำคัญทั้งสิ้น

ประเด็นสุดท้าย
ขอยกตัวอย่าง หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผมมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ อาจารย์มณเฑียร บุญมา (ศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้ว) ที่น่าจะกล่าวได้ว่า เป็นคนแรกๆ ที่ได้ริเริ่มแนวคิดสื่อศิลปะขึ้นที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมได้สานต่อมาจวบถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากการพยายามทำความเข้าใจต้นทุนทางสังคม-วัฒนธรรมของเชียงใหม่ก่อน ว่าหลักสูตรที่เชียงใหม่ควรมีตำแหน่ง (Positioning) อย่างไร ? อาทิเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศ หลักสูตรดังกล่าวมีอาจารย์ประจำราว 5 คน ไม่มีงบประมาณมากที่จะจัดซื้อเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่มีศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค่อนข้างมีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น แล้วอะไรคือ “Positioning” ที่เราสามารถแข่งขันได้ มีความแตกต่างที่ไม่ฝันจนเกินไป เราจะพัฒนานักศึกษาศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมาอย่างไร ซึ่งจะสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในยุคหลังสมัยใหม่ เป็นที่ต้องการของสังคมไทยและตลาดแรงงาน และสามารถแข่งขันกับโลกได้

หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อเกิดเมื่อปี 2003 (พ.ศ.2546) โดยเริ่มเปิดหลักสูตรเป็นระดับประกาศนียบัตร และปริญญาโทตามลำดับ เน้นการจัดการศึกษาแบบสหวิทยาการ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมศาสตร์สื่อ นิเทศศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมร่วมสมัย หลักสูตรฯ ได้จัดการศึกษาแบบ Research Lab โดยมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ 4 กลุ่ม โดยมี Research Lab 4 ประเด็นคือ

(ก) Media art Lab
(ข) De-sign Lab
(ค) Informative Culture Lab
(ง) Media Ethnography & Visualizing Culture Lab

โดยช่วงเริ่มต้นเป็นการร่วมมือทางวิชาการระหว่าง 4 คณะคือ คณะวิจิตรศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรม (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

หลักสูตรฯ มีลักษณะเรียนร่วมกัน ไม่แยกศิลปินสื่อ นักออกแบบสื่อ นักนิเทศศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์สื่อ เรารับนักศึกษาจบปริญญาตรีทุกสาขา เพราะเชื่อว่า Media and Cultural Study เป็นศาสตร์ที่ช่วยต่อยอดอาชีพต่างๆ ได้ ดังนั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้กรอบวิธีคิด และวิธีวิทยาจากมุมมองหลากหลายศาสตร์ ทั้งวิถีการเป็นศิลปิน วิถีการเป็นนักออกแบบ การเป็นนักวิชาการด้านสื่อและวัฒนธรรมศึกษา นักจัดการสื่อ เป็นต้น นักศึกษาจะได้เรียนทฤษฏีพื้นฐานด้านสื่อโดยรวม ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งปรัชญาหลังสมัยใหม่ แนวคิดสังคมศาสตร์ การตลาด นิเทศศาสตร์ การจัดการสารสนเทศ การออกแบบ ศิลปะร่วมสมัย ทักษะด้านสื่อใหม่หลายเทคนิคที่จำเป็น เป็นต้น

ปีสุดท้ายทุกคนต้องเลือกเข้า Research Lab หนึ่งในสี่ข้างต้น เพื่อพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่อไป โดยคาดหวังว่า การทำวิจัยเพื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาต้องสะท้อนสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

(ก) ทักษะการประยุกต์ใช้วิธีวิทยา การวิจัยทางสังคมศาสตร์ได้ (Critical Discourse Analysis) ไม่เพียงสร้างสื่อจากแรงบันดาลใจส่วนตัวที่ปราศจากทฤษฏี ต้องมีการทบทวนวรรณกรรม (Review Literature) มีการนำเสนอวิธีวิทยาการแสวงหาความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Methodology – Creative thinking) ที่น่าเชื่อถือ มีเหตุผล และ

(ข) ผลงานการค้นคว้าส่วนตัว เพื่อสำเร็จการศึกษาขั้นสูง ซึ่งต้องไม่เพียงเขียนหนังสือเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำเอาประเด็นการวิจัยมาสร้างเป็นสื่อที่น่าสนใจได้ สะท้อนทักษะการแสดงออกทางสุนทรียภาพ (Artistic Expression) ที่สามารถเลือกใช้สื่อทั้งสื่อดั้งเดิม หรือสื่อใหม่ๆ สะท้อนทักษะอันหลากหลาย(Multiple Senses & Multiple Disciplines) โดยเราจะไม่ตั้งคำถามก่อนว่า เป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย หรือผลงานออกแบบ หรือผลงานวิจัยทางสื่อและวัฒนธรรมศึกษา หลักสูตรฯ ค่อนข้างเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางวิชาการอย่างอิสระ ภายใต้ Brand Idea ว่า “New Space for Thinking” เพราะเราเชื่อว่า “ความคิด” คือเทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพสูงสุด

+++++++++++++++++++++++++++++++++

สัมมนา
คำถาม : มีคำถามจากที่ประชุมว่า ผลงานของ อ.สาครินทร์ เครืออ่อน ปลูกข้าวในนิทรรศการที่ Ducumenta ประเทศเยอรมันครั้งที่พึ่งผ่านมานี้ เป็น New media art หรือไม่ ?
อ.อุทิศ : ผมขอยกตัวอย่างจากการบรรยายของอาจารย์ท่านหนึ่งจาก MIT Media Lab เธอพึ่งบรรยายเรื่อง Media art ที่เชียงใหม่ ตอนหนึ่งของการบรรยายเธอได้ยกตัวอย่างงานของ มณเฑียร บุญมา ซึ่งใช้เพียงกลิ่นจากสมุนไพรเป็นองค์ประกอบหนึ่งในผลงาน โดยที่มณเฑียรไม่ได้ใช้ สื่อใหม่ๆ อะไรเลย เช่น คอมพิวเตอร์ วีดิโอ ฯลฯ แต่เธอกลับนับว่าเป็นผลงานสื่อศิลปะที่เธอประทับใจมาก จากตัวอย่างนี้ผมเชื่อว่าปัจจุบัน นิยามของสื่อศิลปะคืออะไร ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 2 กลุ่ม ที่มีแนวคิดต่างกัน ดังที่ผมเคยยกตัวอย่างในการประชุมทางวิชาการที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ
(ก) กลุ่มแรกเชื่อว่า สื่อศิลปะจะต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี อาจเป็นเทคโนโลยี อนาล็อก (Analog) และ/หรือ เทคโนโลยีดิจิตอล ต้องเกี่ยวข้องกับผลงานที่สร้างประสบการณ์จากหลากหลายปราสาทสัมผัส และมีการประยุกต์ใช้สื่อใหม่ๆ อย่างชัดเจน อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นล่าสุดของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือทางวิศวกรรมใหม่ๆ ถ้าเป็นความเชื่อแบบนี้ ผลงานของอาจารย์ สาครินทร์น่าจะไม่เข้าข่ายเป็นผลงานด้าน สื่อศิลปะ
(ข) ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ที่นิยามว่าเป็นสื่อศิลปะระดับ “วิธีคิด” มุ่งเน้นการใช้สื่อที่สร้างประสบการณ์หลากหลาย ทั้งใช้สายตา ใช้เสียงประกอบ ใช้กลิ่น สัมผัส การมีส่วนร่วมกับผลงาน เป็นต้น หรืออาจทำศิลปะที่ไปเชื่อมโยงกับการใช้ความรู้ของศาสตร์อื่นๆ มาสร้างสรรค์ศิลปะ สำหรับกรณีของ อ.สาครินทร์ การปลูกข้าวในฐานะศิลปะครั้งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับความรู้ที่มากกว่าศิลปะ หรือความงาม และเน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมของชุมชนที่ศิลปินไปทำกิจกรรม ซึ่งผมเชื่อว่านักวิชาการกลุ่มนี้จะนับผลงาน อ. สาครินทร์ เป็นผลงานสื่อศิลปะแน่นอน

คำถาม : หลักสูตรสื่อศิลปะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่พึ่งนำเสนอหลักสูตรสื่อศิลปะจากประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมานี้ เหมือนหรือต่างอย่างไร ?
อ.อุทิศ : ผมคิดว่าต่างกันตรงที่หลักสูตรสื่อศิลปะจากประเทศอินโดนีเซียที่พึ่งบรรยายนี้ เป็นหลักสูตรเฉพาะของศาสตร์ศิลปะ ผสมผสานระหว่าง New Media Installation Art and Performance Art ซึ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ภายในโลกศิลปะร่วมสมัย แต่หลักสูตรที่เชียงใหม่ ค่อนข้างเน้นการศึกษาแบบสหวิทยาการ เกี่ยวข้องกับศาสตร์ศิลปะ ศาสตร์การออกแบบ และศาสตร์สื่อและวัฒนธรรมศึกษา ที่นั้นเราจะเรียนวิชาเชิงทฤษฏีด้านสื่อและวัฒนธรรมศึกษาเป็นพื้นฐานความรู้ พอขึ้นปีสอง นักศึกษาจึงมีสิทธิเลือกความเชี่ยวชาญพิเศษเป็น 4 แนว แต่ละแนวต่างมีตำราพื้นฐานคนละกอง เช่น ถ้าใครเลือกที่จะเป็นศิลปินก็จะเลือก Media art Lab ตำราประจำ Lab จะเกี่ยวข้องกับศิลปะร่วมสมัยโดยตรง และฝึกทักษะด้าน Audio & Vision ถ้าต้องการเป็นนักออกแบบก็เลือก De-sign Lab ตำราก็จะเกี่ยวข้องกับการจัดการ การตลาด การสื่อสารการตลาด การสร้างแบรนด์ การออกแบบในบริบทอุตสาหกรรม ศิลปะร่วมสมัย และจะฝึกทักษะด้านการจัดการ การวางแผน รวมทั้งการออกแบบขั้นสูง เป็นต้น หรือถ้าต้องการเป็นนักทฤษฏีก็จะเลือก ) Media Ethnography & Visualizing Culture Lab ก็จะมุ่งเน้นการอ่านทฤษฏีอย่างลึกระดับอ่านหนังสือภาษาอังกฤษจากต้นฉบับ และฝึกทักษะการเขียนหนังสือ และนำเสนอประเด็นการวิจัยเป็นสื่อรูปแบบต่างๆ เป็นต้น หรือต้องการเป็นนักสารสนเทศ ก็จะเลือก Informative Culture Lab ก็จะเรียนการจัดการสารสนเทศ และทักษะการออกแบบ Web site & Interactive ขั้นสูง ซึ่งแต่ละ Lab ก็สอนคนละแนว
กล่าวได้ว่า เราพยายามจะสร้างบรรยากาศการศึกษาแบบสหวิทยาการ นำกรอบทฤษฏี และวิธีวิทยาของศิลปะ การออกแบบ และสื่อมาศึกษาร่วมกัน เพื่อสร้างบุคลิกใหม่ๆ ของนักศึกษาที่มีความรอบรู้มากยิ่งขึ้น ปรับตัวรวดเร็วให้สัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ทางสังคมในยุคหลังสมัยใหม่ได้ดี และทำงานกับคนอื่นๆ ในฐานะทีมได้ ที่เล่ามาทั้งหมด น่าจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า จุดยืนของหลักสูตรและความคาดหวังในการผลิตบัณฑิตของประเทศอินโดนีเซียและที่เชียงใหม่ มีความเชื่อที่แตกต่างกันบางประการ


คำถาม : ทำไมจึงอ้างถึงแนวคิดหลังสมัยใหม่บ่อยครั้ง ที่เมืองไทยมียุคนี้ด้วยหรือ ? ในต่างประเทศเขาเลิกพูดถึงแล้ว ?
อ.อุทิศ : ผมไม่เห็นด้วยที่เชื่อว่า แนวคิด “หลังสมัยใหม่” เป็นเพียงแนวคิดแฟชั่นที่นิยมชั่วคราวแล้วหายไป จากประสบการณ์ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ผมยังคงเห็นตำราทั้งทางสังคมศาสตร์ สื่อและวัฒนธรรมศึกษา ศาสตร์การออกแบบ และศิลปะร่วมสมัย ต่างยังคงถกเถียงประเด็น “หลังสมัยใหม่” อย่างต่อเนื่องจวบถึงปัจจุบัน ทั้งในระดับข้อโต้แย้งเชิงทฤษฏี หรือระดับการประยุกต์ใช้ในงานวิจัยระดับปริญญาเอกทั่วโลก แนวคิดความสมัยใหม่ (Modernity) หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่แนวคิดของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ไม่ใช่เพียงมุ่งอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก อาทิ ยุโรป อเมริกา เท่านั้น แต่มันเป็นแนวคิดที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกาภิวัตน์ร่วมสมัยทั่วโลก กระบวนการปรับตัวจากสังคมยุคสมัยใหม่ (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา) สู่กระบวนทัศน์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนในช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งแนวคิดเชิงทฤษฏีระดับภาวะวิทยา (Ontology) ญาณวิทยา (Epistemology) และวิธีวิทยา (Methodology) รวมทั้งระดับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนจากทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผมเชื่อว่า แม้เรากำลังถกกันในประเด็นการออกแบบหลักสูตรสื่อศิลปะที่ประเทศไทย แต่อิทธิพลจากแนวคิดเชิงทฤษฏีต่างๆ เกี่ยวกับสังคมหลังสมัยใหม่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด


คำถาม : สื่อศิลปะน่าจะตอบโจทย์ศิลปะในปัจจุบันนี้ได้ แล้วสถาบันการศึกษาศิลปะในระดับอุดมศึกษาดั่งเดิมทั้งหลายจะมีท่าทีอย่างไร อาทิหลักสูตรจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นสื่อเก่า จะต้องมีหลักสูตรเหล่านี้อีกไหม ?
อ.อุทิศ : ผมขอเสริมตรงที่ อ.ปัญญายืนยันว่า อย่าไปหลงใหลกับประเด็นด้านเทคนิคของโลกศิลปะมากนัก เพราะไม่ใช่แก่นสาระหลักของการเป็นศิลปิน กล่าวได้ว่า Media ที่โลกมนุษย์รู้จักอย่างแรกสุดก็คือ การพูด (Oral Culture) มีมากว่าหมื่นๆ ปีแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังใช้การพูดในฐานะสื่อชนิดหนึ่งที่ถูกใช้ในวงการศิลปะอยู่เลย หลังจากนั้นมนุษย์เริ่มประดิษฐ์การเขียน (Manuscript Culture) ขึ้นมา เริ่มจากวัฒนธรรมเมโสโปเมเมีย กรีก จีน ฯ และเผยแพร่ไปทั่วโลก เมื่อเกิด Media การเขียนขึ้นมาก็ทรงอิทธิพลก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมาย แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงใช้การเขียนในฐานะสื่อทางศิลปะอยู่ ต่อมามนุษย์เริ่มคิดเครื่องพิมพ์อัตโนมัติขึ้น (Print Culture) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่มาก สร้างวัฒนธรรมการเห็น (Visual Culture) รัฐชาติ ความรู้ที่มีมาตรฐานภายใต้วิธีคิดวิทยาศาสตร์ เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดคริสต์ศาสนานิกายโปแตสแต้นท์ (ทุกคนเข้าถึงพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ได้ผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือ) ปัจจุบันเราก็ยังคงใช้เป็นสื่อทางศิลปะอยู่ ต่อมาราวต้นคริศต์ศตวรรษที่ 20 เกิดวัฒนธรรมอิเลคโทนิค (Electronic Culture) วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นเสียง ฯ และล่าสุดเกิดเทคโนโลยีดิจิตอล New media แน่นอนที่สุด วงการศิลปะก็คงต้องปรับตัว แต่ผมยืนยันว่า มันก็เป็นเพียงสื่ออีกชนิดหนึ่งที่เพิ่มเติมเพื่อให้ศิลปินได้แสดงออก มีความหลากหลายในทางเลือกการใช้สื่อ ผสมผสานสื่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ใช้ปราสาทสัมผัสที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การเป็นศิลปินหน้าที่ของเรา คือแสวงหาแนวคิดและความเชื่อบางอย่างที่สำคัญสำหรับจุดยืนส่วนตัว และสำคัญสำหรับสังคม และต้องการจะสื่อสารให้ผู้คนร่วมสมัยได้รับรู้ เป็นปฏิบัติการเชิงทฤษฏีผ่านผลงานสร้างสรรค์ศิลปะต่างๆ หน้าที่ของศิลปินคือส่ง Message ที่สำคัญ เป็นประเด็นสาธารณะที่ผู้คนในสังคมมีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก เริ่มจากประเด็นแนวคิดส่วนตัว ถ้ามันสำคัญมันก็จะพัฒนาความสำคัญไปสู่ระดับสากลต่อไป
ผมขอยกตัวอย่างผลงานศิลปะของ โจเซฟ บอยส์ ศิลปินชาวเยอรมันที่ทำศิลปะเกี่ยวข้องกับสำนึกเรื่องความเจ็บปวดของคนเยอรมัน ที่ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องการสะท้อนปัญหาของมนุษยชาติที่หันหลังให้กับแนวคิด และอุดมคติการเห็นสรรพสิ่งเชื่อมโยงกันเป็น “องค์รวม” จากระดับรูปธรรมถึงระดับนามธรรม เขาปฏิบัติการเชิงแนวคิดและความเชื่อส่วนตัวอย่างต่อเนื่องทั้งชีวิต ผ่านรูปแบบ และเทคนิคของศิลปะที่หลากหลาย ทั้งสื่อวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม การจัดวาง การแสดง ฯลฯ ตามกาลเทศะที่เขาเห็นว่าเหมาะสม โดยไม่ติดยึดความเป็นช่าง ผมเห็นว่า ความสำคัญของการเป็นศิลปินร่วมสมัย หรือศิลปินสื่อศิลปะ มันเริ่มจากประเด็นปัญหาท้องถิ่นที่มีผลจากโลกาภิวัตน์ เป็นแนวคิดและความเชื่อส่วนบุคคล จากนั้นศิลปินก็ยืนยันแนวคิดส่วนตัวของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะ และเรียนรู้จากการตอบรับของสังคม เพื่อนำมาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สำคัญต่อมา ผมเชื่อว่า ศิลปินเพียงต้องการสื่อสาร Message ที่เขาเชื่อ การจะใช้ Old Media หรือ New Media อะไร ? อย่างไร ? น่าจะเป็นประเด็นรองที่ช่วยสนับสนุน Message ที่สำคัญนั้นๆ มากกว่า
ปีกาสโซ ก็เป็นศิลปินที่ทดลองรูปแบบ เทคนิคมากมาย ทั้ง วาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม และแม้แต่สื่อศิลปะ ในช่วงท้ายชีวิตอีกด้วย แต่ความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของปีกาสโซคือ “วิธีคิด” การสร้างสุนทรียศาสตร์แบบ Multi-perspectives ที่ปฏิวัติศาสตร์ศิลปะในช่วงเวลานั้น ที่ติดยึดกับสุนทรียภาพแบบ Single-perspective การเห็นจากหลาย ๆ มุม ซึ่งเป็นตัวแทนของ Perception แบบใหม่ ๆ ของยุคสมัย กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะคือประวัติศาสตร์ของแนวคิด ไม่ใช้ประวัติศาสตร์ของเทคนิคศิลปะ
หรืออีกตัวอย่างที่ผมเจอในชีวิตจริงคือศิลปินไทยที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ฤกษ์ฤทธิ์ ติระวนิช คนส่วนใหญ่รู้จักผลงาน “ผัดไท” ในแกลลอรีที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดสุนทรียศาสตร์แนว Relational Aesthetic ต่อมา ปัจจุบันเขาก็ยังคงทดลองรูปแบบ เทคนิคต่างๆ มากมาย ทั้ง Old Media หรือ New Media ตามความเหมาะสมกับสถานที่และเวลาในแต่ละแห่ง ผมสังเกตเห็นว่า ศิลปินที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ได้สนใจว่าพวกเขาเป็นจิตรกร หรือ ศิลปินสื่อศิลปะ หรือไม่ ? พวกเขาเพียงกำลังสื่อสาร Message จากแนวคิดและความเชื่อที่พวกเขาเห็นว่ามันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และ/หรือ สังคมในปัจจุบันให้ดีขึ้นเท่านั้น

การสัมมนาการวิชาการนานาชาติประเด็น “สื่อศิลปะกับการศึกษาขั้นสูง” ณ มหาวิทยาลัย ศิลปากร นครปฐม วันที่ 3 สิงหาคม 2008
ขอขอบคุณ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่ได้ให้คำแนะนำทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการบรรยายครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น