วันพุธที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

การจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรม

กระบวนการส่งเสริมสันติวิธีในการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมีดังนี้

การยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยทำให้โลกใบนี้เล็กลง มิติทางวัฒนธรรม เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม เป็นการเคลื่อนไหวถ่ายเทแลกเปลี่ยนความรู้และวิถีชีวิตระหว่างกันของมวลมนุษยชาติ ปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวมีมาเนิ่นนานนับสหัสวรรษและยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในยุคที่การติดต่อสื่อสารสามารถกระทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ดังเช่นทุกวันนี้ผลกระทบทางวัฒนธรรมจากกระแสโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ 3 ประการ (อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว . (2547. 6 กรกฎาคม) โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม. มติชนรายวัน . หน้า 7 ) คือ

1.วัฒนธรรมรวมตัว (Cultrual Homogenization) เนื่องจากโลกาภิวัตน์นำมาซึ่ง "มาตรฐาน" การยอมรับในระดับสากล จนเกิดเป็นการบีบบังคับให้เปลี่ยนตามหรือลอกเลียนด้วยความเต็มใจ เมื่อเป็นดังนี้ วัฒนธรรมท้องถิ่นจึงสูญเสียคุณค่าที่เคยมี ทำให้เกิดการแปรสภาพและเปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมของโลก เปรียบเสมือนการหลอมละลาย อ่อนไหวไร้จุดยืนไปตามสถานการณ์ผู้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวนี้ มีความหวังว่าการยัดเยียดวัฒนธรรมสามารถกระทำได้ ดังเช่น "รัฐนิยม" ซึ่งเคยมีใช้อยู่ในประเทศไทย ด้วยจุดมุ่งหมายให้วัฒนธรรมย่อย ค่อยๆ ลบเลือนหายไป

2.วัฒนธรรมแตกตัว (Cultural Heterogenization) ในกรณีนี้ โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการแปลกแยกระหว่างวัฒนธรรม จนยากเกินกว่าจะรอมชอมกันได้ ต่างฝ่ายต่างรักษาความบริสุทธิ์หรือวัฒนธรรม "พันธุ์แท้" ของตนเอง จนผลที่เกิดตามมาคือการปะทะถึงขั้นแตกหัก

3.วัฒนธรรมลูกผสม (Cultural Hybridization) หรืออีกนัยหนึ่งคือการผสมผสาน จนยากเกินกว่าจะแยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันได้ วัฒนธรรมพันธุ์ทางมักเกิดขึ้นเสมอ หากมีการไปมาหาสู่กันรวมทั้งเมื่อติดต่อสื่อสารแบบรอมชอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมของทุกชาติในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ก่อกำเนิดเกิดขึ้นได้ ด้วยการหยิบยืมแลกเปลี่ยนกันไปมาทั้งหมดทั้งสิ้น หากไม่ภายในพวกกันเองก็ระหว่างกลุ่ม เพราะฉะนั้น ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมพันธุ์ทางน่าจะเป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติมากที่สุดหากพิจารณาวัฒนธรรมของชนชาติไทยดู ก็จะรู้ว่ามีที่มาจากแอ่งอารยธรรมมากมายหลายแหล่ง อาทิ วัฒนธรรมโบราณของท้องถิ่นตั้งแต่ ขอม มอญ ละว้า มลายู รวมทั้งจากภายนอกภูมิภาค แม้ระยะทางอยู่ห่างไกลออกไป เช่น จีนและอินเดียยุคสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยชาม "สังคโลก" ว่ากันว่าเกิดจากการนำเข้าช่างฝีมือชาวจีน ซึ่งขณะนั้นการค้าระหว่างจีนกับรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมาก จนเป็นช่องทางให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนรวมทั้งการถ่ายทอดทักษะการประดิษฐ์เชิงพาณิชย์ จนนำรายได้เข้าสู่รัฐไทยอย่างมากมาย ยุคสมัยอยุธยา ขนมไทยแท้แต่โบราณ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ขนมไข่เต่า ขนมผิง สังขยาและหม้อแกง ฯลฯ ความเป็นจริง กลับมีต้นกำเนิดมาจากสตรีชาวญี่ปุ่นเชื้อสายโปรตุเกสนามว่ามารี กีมาร์ หรือ "ท้าวทองกีบม้า" ผู้นำเข้ามาเผยแพร่ ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชยุคสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องแต่งกายชายชุดประจำชาติไทย คือ "ราชปะแตน" เกิดขึ้นมาจากการประยุกต์ชุดต้นแบบของราชา (Raj Pattern) โดยชนชั้นนำไทยได้รับแรงบันดาลใจมาจากอินเดีย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ

จากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่าวัฒนธรรมไทยเกิดจากการเรียนรู้เพื่อ "รับ" และ "แลกเปลี่ยน" กับวัฒนธรรมอื่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งเคยแปลกปลอมเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ดังที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบันในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมของไทยเองก็ได้เคลื่อนย้ายไหลเวียนออกไปสู่ภูมิภาคอื่นด้วย จนเมื่อกลายเป็นความนิยมและเกิดการยอมรับ จึงถูกขนานนามว่ามีที่มาจากเมืองไทย แฝดสยาม (Siamese Twins) กลายเป็นคำที่ใช้เรียกทารกแฝด ซึ่งเกิดมามีร่างกายติดกันตามธรรมชาติ โดยคำดังกล่าวมีที่มาจากฝาแฝด "อิน-จัน" ชาวแม่กลอง สมุทรสงคราม ผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กและต่อมากลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการแสดง จนรู้จักกันไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป แมวสยาม (Siamese Cat) เป็นคำเรียกแมวชนิดหนึ่ง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ ภายหลังจากกงสุลอังกฤษในไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำแมวไทยกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนด้วย จากนั้นได้นำออกแสดง ณ คริสตัล พาเลซ ประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงและได้รับความนิยมอย่างมากทั่วยุโรป ในปัจจุบัน "อาหารไทย" เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรม ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศไม่เฉพาะแค่ภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ยังกว้างไกลไปถึงทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย รวมทั้งทวีปแอฟริกาด้วย จนรัฐบาลถึงกับประกาศส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทย 10,000 แห่ง ในต่างประเทศภายในปี 2551

นอกจากนี้ ยังมีกีฬา "มวยไทย" ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล และอีกหลายประเทศในยุโรป โดยแต่ละปีมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ติดตามเข้าชมการแข่งขัน รวมทั้งสนใจศึกษาแม่ไม้มวยไทยตามค่ายมวยต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศในยุคที่คนไทยเกือบ 30 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง ขณะเดียวกับที่ผู้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตก็เพิ่มจำนวนเข้าใกล้ 8 ล้านคนเข้าไปทุกที ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่หลายแขนง ย่อมเติมความเข้มข้นให้กับการติดต่อสื่อสารของมนุษย์มากยิ่งขึ้นท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนี้เอง โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งความเป็นพันธุ์ทางอันเกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อโน้มนำไปสู่ประชาสังคมโลก (Global Civil Society) พลวัตภายในสังคม จะเป็นตัวกำหนด "วัฒนธรรมลูกผสม" ของแต่ละสังคมนั้นดังนั้น เมื่อการยอมรับการคงอยู่ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ของทุกชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุปัจจัยใด การครอบงำ การบังคับให้แต่ละคน แต่ละชุมชนถึงแม้จะอยู่ประเทศเดียวมีวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นจึงเป็นเรื่องยากและนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในที่สุด

ดังนั้นการบริหารจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด การยอมรับความสำคัญของวัฒนธรรมอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อย พร้อมกันนั้นกลุ่มน้อยก็จะต้องยอมรับความสำคัญของวัฒนธรรมของกลุ่มใหญ่เช่นกัน ในขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยก็ต้องยอมรับสภาพของความเป็นจริง การจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับชนกลุ่มใหญ่ เพื่อจะแยกตัวออกไปต่างหากมักไม่เป็นผล ทางออกได้แก่ทั้งสองฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ประวัติศาสตร์บ่งว่าการอยู่ด้วยกันอย่างสันติมิใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม มันเกิดขึ้นได้หากทั้งสองฝ่าย หันหน้าเข้าหากันด้วยความจริงใจ สิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง เมื่อสองฝ่ายไม่ยอมหันหน้าเข้าหากัน คือการฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงของผู้อื่น

การศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม

หลังจากมีการยอมรับสิ่งสำคัญลำดับต่อมาคือการศึกษาเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ความแตกต่างและหลากทางวัฒนธรรมที่อยู่ในแต่ละประเทศต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มชนที่ต่างกัน นอกจากจะสร้างความรัก ความผูกผัน ทำความรู้จักต่อกันแล้ว ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนักและพัฒนาความเป็น ชาติ ศาสนา ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งยังสามารถเกิดการพัฒนาในระดับบุคคล คือ การพัฒนา ความรู้ สติปัญญา ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการหล่อหลอมให้เกิดการใช้ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อ "เข้าใจผู้อื่น" เข้าใจความเป็นอยู่ของคนในที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่ห่างไกลและอยู่ใกล้ชุมชนรอบตัว รวมทั้งรู้ "วิธีการ" ที่เราจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชน ศาสนิกอื่น มีประโยชน์และกำไรสำหรับผู้ที่รู้ เป็นผู้รู้กาละเทศะ การปรับตัวเพื่อการเข้าใจกัน สามารถลดความขัดแย้ง สร้างสันติสุขในการอยูร่วมกัน นอกจากนั้นการรู้วัฒนธรรม ยังทำให้เรารู้อีกว่า อะไรที่ควรทำหรืออะไรที่ไม่ควรทำ เรื่องใดที่เขายึดถือ เคารพ ห้ามละเมิดและยอมได้หรือยอมไม่ได้ ในบางเรื่องผู้ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะเป็นคนบอกเองว่า อะไร ที่เป็นข้อผ่อนปรนได้ อะไรที่ผ่อนปรนไม่ได้ อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง

การศึกษาเรียนรู้ (โปรดดูโชคชัย วงษ์ตานี.พื้นฐานวัฒนธรรมมุสลิม. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://midnightuniv.org/midnight2545/document95127.html) "วัฒนธรรม" ที่เขาเชื่อ คิด ปฏิบัติ จะทำให้เข้าใจและรู้ว่าควรปฏิบัติต่อคนที่ต่างจากเราอย่างไร ด้วยความต่างทั้งเรื่อง เพศ วัย ครอบครัว การศึกษา ศาสนา ความเชื่อ ต่างถิ่น ต่างชาติ ว่าเรา (ทั้งในฐานะรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ) จะอยู่ร่วมกับเขา หรือสัมพันธ์กับเขา (ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่) ในลักษณะของ การช่วยเหลือ การวางนโยบายทางการปกครอง การส่งเสริมและแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการค้าขาย การให้การศึกษา กับเขาได้อย่างไร ในแบบที่เรียกว่า ตรงกับความต้องการ ตรงกับกาลเทศะ และสอดคล้องกับหลักศรัทธาในศาสนาที่เขาเหล่านั้นยึดถือ ปฏิบัติ

ผู้ที่ศึกษาวัฒนธรรมของผู้อื่น/กลุ่มชนอื่นอย่างลึกซึ้งแล้ว จะส่งผลทำให้สามารถสะท้อนความเข้าใจต่อกลุ่มชน ของตนเองมากขึ้น เพราะการที่เราจะเข้าใจ "ตัวตน" ของตนเองได้ จะต้องมองผ่านผู้อื่น สะท้อน "ตัวตนของเรา" ให้เรารู้และให้เราเห็น และเมื่อเข้าใจและรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเองและผู้อื่นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เขาเหล่านั้น จะเลือกใช้วัฒนธรรมในฐานะ "กำแพง" ที่ก่อเพื่อปิดกั้นและอยู่เฉพาะกลุ่มชนตนเอง หรือมุ่งที่จะสร้างเป็น "สะพาน" เพื่อที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อการแลกเปลี่ยน สังสรรค์ เป็นที่รู้จักและนำสู่การอยู่ร่วมกันในประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสันติ
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=904

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น