วันพุธที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

Hybrid Melody Mixed เบิร์ด+จิน โดย จิรพรรณ อัญญะโพธิ์

“ถ้า Hybrid หมายถึงการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ เทปชุดรับแขกที่เรากำลังจะคุยกันต่อไปนี้เป็นชุดที่ชัดเจนที่สุด…” คุณบุษบา ดาวเรือง

….แฟนจ๋า ฉันมาแล้วจ้ะ อยู่นี่แล้วน่ะ เขยิบมาใกล้ๆอ่ะ (อาลาวา) แฟนจ๋าเราเป็นเนื้อคู่ รักจริงไม่อู้ โอ้แม่ยอดชู้อ่ะ(ตาลาลา)….

เดิน…อีนางเอ๊ย อีหยังอ้าย เดินมานานคิดถึงก็เลยต้องมา ดูเวลามาหามาเจอสักที รอมานาน จดหมายไม่เคยจะมี รอเป็นปี ไม่ CHAT มาบอกซักคำ…เลย….มาทำไม ไม่รักก็ไม่ต้องมา เป็นอะไร ไม่รัก ก็คงไม่มา….

2 เพลงนี้ธงไชย แมคอินไตย์ (เบิร์ด) ร้องคู่กับจินตหรา พูนลาภ (จิน) …เชื่อว่าท่านผู้อ่านยังจำท่วงทำนองอันสนุกสนานของเพลงทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งดูเหมือนจะมีเพลงชุดรับแขกชุดนี้เป็นชุดแรกของวงการเพลงไทย ที่กล้าหาญในการนำซูเปอร์สตาร์เพลงป๊อปอย่างเบิร์ด มาร้องคู่กับราชินีหมอลำสาวจินตหรา และนัท มีเรีย รวมถึงแคทลียา อิงลิช พร้อมสอดแทรกอารมณ์เพลงด้วยเส้นเสียงทางวัฒนธรรมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย มาผสมผสานกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาตรฐานสากลทางดนตรี

“นี่คือส่วนผสมของงานแบบแฟนจ๋า และเพลงอื่นๆในชุดรับแขก เป็นการทดลองจากสิ่งที่เป็นพื้นบ้านแล้วไปเจอกับวัฒนธรรมทางดนตรีอีกมุมหนึ่งของโลก บ่อยครั้งที่เรามักจะบอกว่า คนฟังได้อรรถรสใหม่ๆ เราจะต้องพยายามทดลองการ Hybrid Music แล้วมันก็จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา”

เมื่อรากของ Hip Hop และ Rap คือการเล่นคำแบบสั้น กระชับ ภาษาท้องถิ่นของไทยจากการแสดงลำตัด แหล่ เพลงยาว ฯลฯ น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันในการใช้สำบัดสำนวน เล่นคำ เล่นภาษา เล่นเสียงสั้น ยาว หนัก เบา

ทั้งหมดนี้น่าจะมาเจอกันแล้วไม่ขัดไม่เขิน และแน่นอนกลายเป็นเพลงพันธุ์ใหม่ ขยายฐานกลุ่มคนฟังอย่างกว้างขวาง แทนที่จะมีเพียงกลุ่มเดียว

1st Step Hybrid Music

ความจริงแล้ว Hybrid Music ได้เกิดตลอดเวลา เฉพาะค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เองเรื่องนี้ได้ทดลองผสมพันธุ์เมื่อครั้งนำเพลง “คู่กัด” ของเบิร์ด มา Arrange เป็นแร็พ รวมถึงเพลงชุดอื่นๆ แต่ผู้ฟังอาจจะไม่รู้สึกสัมผัสถึงเนื้อหนังเช่นชุดรับแขกที่กล่าวมา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงการปฏิสนธิทางดนตรีในประเทศไทย เกิดมานานจนกระทั่งต้องย้อนกลับไปสมัยอยุธยา

เริ่มจากลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสเข้ามาในสมัยอยุธยาแล้วได้ยินทำนองเพลงไทยๆ มีความสนใจในเนื้อหาและทำนองเพลง จึงนำไปเขียนเป็นตัวโน้ตสากลและตัวเขาเองก็ร้องเป็นภาษาของเขา ซึ่งการ Hybrid ดนตรีไทยและสากลครั้งแรกน่าจะเริ่มตั้งแต่เวลานั้น จากนั้นผู้ก่อตั้งวงดุริยางทหารเรือไทย เคยเป็นหัวหน้าวงมารีน แบนด์ซึ่งเป็นวงดุริยางค์ทหารเรืออเมริกาเข้ามาในไทยพร้อมกับเรือเทนเนสซี ก็มาเรียบเรียงเสียงประสานเพลงสายสมรใหม่ใช้ชื่อว่าพระนารายณ์

พ.ศ.2395 นายทหารอังกฤษ 2 คนมาอยู่ที่วังหน้าและวังหลวง นำดนตรีสากลมาฝึกทหารแตร โดยใช้ทำนองเพลง God Save the Queen ซึ่งเป็นเพลงชาติอังกฤษแล้วใส่เนื้อไทยเข้าไป สิ่งที่เกิดหลังจากนี้จะมองเห็นความผสมผสานของแตรวงที่เล่นเพลงไทยมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2410 เมื่อพระเจนดุริยางค์เข้ามาเป็นนักดนตรีดุริยางค์กองทัพบก กองดุริยางค์ต่างๆ จะเล่นแตรวง ส่งผลมาถึงวงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2480 เพลงประกอบภาพยนตร์ยุคนั้นจะเป็นเพลงไทยผสมเพลงสากล คนยุคนั้นเรียกเพลงลูกผสมที่มีทำนองเป็นไทยๆ เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากลเหล่านี้ว่า "เพลงไทยสากล" เช่น เพลงพรานบูรณ์ กล้วยไม้ลืมดอย

“เพลงไทยสากลยุคแรกมี 3 แบบ 1. สร้างเพลงขึ้นมาใหม่ เป็นกลิ่นของเพลงไทย ใช้เนื้อร้องที่เป็นปัจจุบันในเวลานั้น 2.เป็นทำนองเพลงไทยใส่เนื้อเต็มที่ไม่มีเอื้อน ใช้ชื่อใหม่ เช่น เพลงจูบเย้ยจันทร์ 3.นำทำนองฝรั่งมาใส่เนื้อไทย เช่น เพลงม่านไทรย้อย เพลงซานตาโลเซีย เพลงกรีนสลีฟ” ร.ศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้

ในขณะที่วงดนตรีไทยเริ่มมีออร์แกนเข้ามาเป็นส่วนผสมในการสร้างเสียงแห่งความสุข เช่นเครื่องสายไทยผสมออร์แกน เครื่องสายผสมเปียโน หรือแตรวงผสมเปียโน ส่วนแตรวงของฝรั่งก็นำไปใช้กับประเพณีไทยๆ ใช้แห่นาค แห่ศพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้กลายเป็นสำเนียงเสียงประสานใหม่ที่ชาวบ้านยุคนั้นคุ้นเคยมากขึ้น และเป็นยุคแรกๆ ของการ Hybrid ทางด้านดนตรี จากนั้นเรื่องราวของการสร้างพันธุ์ใหม่ทางดนตรีก็เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ต่อด้วยความชัดเจนมากที่สุดในวงการเพลงไทยคือ ยุคของครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์ ในการเล่นเพลงไทยด้วยเครื่องดนตรีสากลเต็มรูปแบบ

“วงสุนทราภรณ์ใช้ทำนองเพลงไทย 80% อย่างเพลงกลิ่นดอกโศก มอญรำดาบ ท่าน้ำ ริมฝั่งน้ำ ส่วน
20 % เป็นเพลงสร้างใหม่ ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่คนไม่รู้สึกอะไรแล้ว รู้แต่ว่ามันทันสมัย เหมือนคนไทยนุ่งผ้าขาวม้าแล้วมาใส่สูท ไม่รู้สึกเคอะเขินเพราะมันผสมผสานระหว่างไทยและสากล จนกลมกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียว ยุคครูเอื้อแยกไม่ออกเลย กลายเป้นการยอมรับแนวเพลงแบบนี้พร้อมความทันสมัย” ร.ศ.ดร.สุกรีอธิบายเพิ่มเติม

พร้อมๆ กับความโด่งดังของครูเอื้อในเวลานั้น จะมีเพลงอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรียกกันว่าเพลงลูกกรุงที่ร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง หรือ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ของตัวโน้ตที่นักแต่งเพลงเป็นผู้กลั่นกรองและถ่ายทอดตามวิธีการแบบตะวันตกที่ได้รับความนิยมขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีเพลงที่คงเหลือทำนองเพลงไทยอยู่บ้างคือ เพลงจูบเย้ยจันทร์ ผลงานครูสมาน กาญจนผลิน

จุดเปลี่ยนของเพลงไทยมาในปี พ.ศ.2515 เป็นยุคเพลงฝรั่งเข้ามาได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นช่วงทหารอเมริกัน หรือเหล่าทหารจีไอ.มารบสงครามเวียดนาม วงดนตรีเมืองไทยขณะนั้น หรือเรียกให้ทันยุคสมัยก็ต้องเรียกว่า สตริง คอมโบ เล่นเฉพาะเพลงฝรั่งเพื่อเอาใจผู้บริโภค ถึงปี พ.ศ.2524 ฝรั่งกลับประเทศ วงสตริง คอมโบเล่นเฉพาะเพลงฝรั่งก็ไม่มีใครฟัง หรือนำทำนองเพลงฝรั่งมาใส่เนื้อไทยก็ไม่มีใครฟัง แต่หากจะฟังเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถสนองตอบความต้องการฟังเพลงสไตล์อื่นในอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง จึงเกิดการ Hybrid ทางดนตรีที่เห็นภาพอย่างชัดเจน ณ ห้วงเวลานั้น เมื่อมีการนำเพลงลูกทุ่งมาผสมสายพันธุ์ลีลาดนตรีฝรั่ง เกิดวงประเภทลูกทุ่งดิสโก้ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากกลุ่มวัยรุ่นในเมืองและต่างจังหวัด

จนกระทั่งเวลาใกล้เคียงกันมากประมาณปี พ.ศ.2526 บจ.แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวเพลง POP นับจากนั้นเป็นต้นมา การผสมพันธ์ทางดนตรีไทยและต่างประเทศก็มีความกลมกลืนมากกว่าทุกยุคที่กล่าว อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง 100%

ไม่ว่าจะเป็นการ Hybrid เพลงในประเทศหรือระดับโลกก็ตาม ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา ณ ขณะนั้น สำหรับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ อาจจะได้เปรียบค่ายเพลงอื่นๆ เพราะเป็นต้นน้ำที่แท้จริงของวงการเพลง ในการรวบรวมนักร้องทุกประเภท นักคิดเพลงทุกสาขา ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้งานเพลงประเภท Hybrid ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอื่น ที่แต่เดิมมิเคยเป็นแฟนเพลงของนักร้องคนนี้มาก่อนเลย

http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=2&ArticleID=2381&ModuleID=21&GroupID=840

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น