วันพุธที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

Hybrid ในเชิงวัฒนธรรม

Hybrid ในเชิงวัฒนธรรม

Hybrid มีความหมายตามศัพท์ที่คุ้นเคยกันมาหลายร้อยปีว่า ลูกผสม อันเกิดจากการผสมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสองพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ที่อยู่ใน Family เดียวกัน แต่ต่างกันในด้านลักษณะเฉพาะของพันธุ์ทั้งสอง นำมาผสมข้ามพันธุ์เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ที่รวมเอาลักษณะเด่นของพ่อและแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นของแต่ละพันธุ์ต่างกันมารวมอยู่ในลูกผสมที่เกิดขึ้นใหม่

Hybrid ถ้านำศัพท์นี้ไปปรับใช้กับการเกิดลักษณะลูกผสมในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะสัตว์หรือพืช แต่เรานับรวมทั้งสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ด้วยแล้ว ลักษณะที่เรียกว่า ลูกผสม หรือ Hybrid นี้เกิดมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นร้อยปี แต่ร่วมสองพันปี

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ คนไทยที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันนี้เอง
เป็นเผ่าพันธุ์ Hybrid โดยแท้ เพราะถ้าพิจารณาตามหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนักมากกว่าเรื่องคนไทยอพยพมาจากจีนแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว จะพบว่ากว่าจะมาเป็นคนไทยในปัจจุบันนี้ ได้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ของหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งคนที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นนี้แต่เดิม

ตามหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมินี้อย่างต่อเนื่องนับย้อนหลังไปได้ถึงประมาณ 2 ล้านปี คนไทยปัจจุบันจึงเป็นลูกผสมของคนท้องถิ่นสุวรรณภูมิเดิม กับคนเผ่าพันธุ์อินเดีย คนเผ่าพันธุ์จีน ที่เข้ามาค้าขายและตั้งหลักแหล่งในดินแดนนี้มากกว่า 2,000 ปี เพราะดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อประมาณสองพันกว่าปีลงมาจนถึงยุคอยุธยา เป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และรวมไปถึงการผสมข้ามพันธุ์กับคนกลุ่มขอม และมอญที่มีอิทธิพลอยู่ในย่านนี้ในช่วงเวลาหนึ่งเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมา

เรื่องของ Hybrid ในหลายๆ วิถี รวมถึงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่เป็นเรื่องใหม่คือ ในสังคมธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาดในโลกปัจจุบัน เรื่องของ Hybrid ได้ถูกนำมาใช้อย่างให้ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ความสำคัญนี้กำลังเพิ่มขึ้นในลักษณะทวีคูณ
ปัจจัยภายนอกและในหลายประการจะทำให้ยุทธศาสตร์ Hybrid Marketing จะกลายเป็นกระแสหลักของการตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะถูกใช้ครอบคลุมทุกเรื่อง ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ขายในตลาด กลยุทธ์การตลาด และยุทธศาสตร์ขององค์กร ไปจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภค

โลกที่นับวันจะแคบลงเป็นโลกไร้พรมแดน การสื่อสารในรูปแบบของความบันเทิงและสาระต่างๆสามารถรับชมจากซีกโลกหนึ่งสามารถทำให้อีกซีกโลกหนึ่งรับรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วเท่าความเร็วแสง การสร้างสัมพันธ์ระหว่างชนต่างเชื้อชาติทั้งในรูปแบบของการเป็นเพื่อน และการเป็นครอบครัวเกิดขึ้นเร็วกว่าการผสมผสานเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพันกว่าปีก่อนเป็นล้านเท่า ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Cross-cultural) เป็นลูกผสม (Hybrid) วัฒนธรรมใหม่ที่กลมกลืน เช่น คนญี่ปุ่นปัจจุบัน ที่มีวิถีชีวิตสมัยใหม่แบบอเมริกันแต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ของความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นผสมอยู่ในลักษณะที่เข้มข้น คนญี่ปุ่นแต่งสากลไปทำงานในสำนักงานและเครื่องมือเครื่องใช้แบบตะวันตก แต่ก็มีปรัชญาดำเนินชีวิตตามลัทธิชินโตและมีวิธีการจัดการธุรกิจที่ผสมผสานลัทธิบูชิโดอยู่ เป็นพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของลูกผสมสายพันธุ์ใหม่อย่างชัดเจน

ความเข้มข้นของวัฒนธรรมญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงผู้รับวัฒนธรรมจากตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาเท่านั้น ญี่ปุ่นยังเป็นผู้ส่งออกวัฒนธรรมของตนไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ทั้ง เอเชีย อเมริกา และยุโรปด้วย เช่นกัน เช่น วัฒนธรรมการร้องคาราโอเกะ วัฒนธรรมการแต่งตัวที่แม้จะเป็นแบบตะวันตก แต่ก็เป็นสไตล์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น วัฒนธรรมเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ ยูโด คาราเต้ ไอคิโด วัฒนธรรมบันเทิง อย่างวิดีโอเกม การ์ตูน ของเล่น ที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ในอเมริกา

การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ยังทำให้เกิดภาษาพูด Hybrid เป็นลูกผสมของภาษาท้องถิ่นกับภาษาอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบัน ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศจะมีการผสมผสานภาษาอังกฤษเข้าไป เพราะความจำเป็นที่ต้องใช้ เนื่องจากการพูดคุยถึงธุรกิจสมัยใหม่ แม้คนในชาติเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน ก็มีภาษาอังกฤษสอดแทรกทั้งสิ้น เพราะวิชาการการจัดการธุรกิจสมัยใหม่ ต้นกำเนิดเป็นภาษาอังกฤษ และศัพท์วิชาการจำนวนมาก ที่ไม่สามารถใช้ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศอธิบายได้ การผสมภาษาอังกฤษในภาษาท้องถิ่นนี้ ไม่เว้นแม้ในภาษาญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านวัฒนธรรม ก็มีการผสมภาษาอังกฤษในระหว่างการพูดคุยเสมอ

ในสิงคโปร์ มีการบัญญัติศัพท์เรียกภาษาจีนแบบสิงคโปร์ที่เป็นลูกผสมอังกฤษใหม่ว่า Singlish ภาษาไทยก็เห็นชัดเช่นกัน เมื่อพูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการสมัยใหม่ ก็ต้องมีภาษาอังกฤษเข้าไปผสมอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าแปลเป็นภาษาไทยแล้ว จะทำให้ความหมายเพี้ยนไปจนสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือน่ากลัวแต่อย่างใด ในอดีตภาษาลูกผสมที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม ก็เกิดมาแล้วเป็นพันปี ในแผ่นดินที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเผ่าชนที่ต่างกันสูง เช่น ไทย ภาษาไทยปัจจุบัน มีการผสมผสานกันของภาษาท้องถิ่น ภาษาสันสกฤต บาลี ของอินเดีย รวมทั้งภาษาขอม ภาษาญี่ปุ่น ก็มีลูกผสมภาษาท้องถิ่นกับภาษาจีน ฯลฯ

การเกิดของวัฒนธรรมลูกผสมเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

การผสมผสานทางวัฒนธรรมในด้านของการผสมของผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ ทำให้เกิดลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ อย่างวงการบันเทิงไทย ดาราที่เป็นลูกผสมไทยกับอเมริกัน หรืออังกฤษ หรือต่างชาติอื่น กำลังได้รับความนิยม เพราะดาราเหล่านี้จะมีลักษณะเด่นในเรื่องหน้าตา บุคลิก การใช้ภาษา

http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=2&ArticleID=2384&ModuleID=21&GroupID=840

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น